กรมชลประทาน สั่งโครงการชลประทานทั่วประเทศ เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด หลังกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศแจ้งเตือนจะเกิดพายุฤดูร้อนทางตอนบนประเทศ ส่งผลให้เกิดฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงต่อเนื่อง

กรมชลประทาน สั่งโครงการชลประทานทั่วประเทศ เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

หลังกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศแจ้งเตือนจะเกิดพายุฤดูร้อนทางตอนบนประเทศ ส่งผลให้เกิดฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงต่อเนื่อง

 

 

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาเตือน ฉบับที่ 4 (76/2563) ลงวันที่ 22 เมษายน 2563 เรื่อง “พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน (มีผลกระทบตั้งแต่ วันที่ 22 – 26 เมษายน 2563)” เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรง จากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ทำให้เกิดการปะทะกันของมวลอากาศเย็นและอากาศร้อน ส่งผลให้ประเทศไทยบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง มีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้กับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ นั้น (โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะได้รับผลกระทบก่อน ส่วนภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคเหนือ จะได้รับผลกระทบในระยะต่อไป)

กรมชลประทาน ได้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำ โดยให้บุคลากรประจำอยู่ในพื้นที่ เพื่อสามารถเข้าไปดำเนินการช่วยเหลือจากสถานการณ์น้ำได้ทันที บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำและน้ำท่าตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ในแต่ละช่วงเวลา หากสภาพอากาศดังกล่าวส่งผลให้ฝนตกลงมายังพื้นที่ด้านเหนืออ่างเก็บน้ำ ก็จะส่งผลดีในการเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกัก รวมทั้งปริมาณน้ำท่าในสายหลักต่างๆด้วย ซึ่งจะทำให้มีปริมาณน้ำต้นทุน เพื่อสนับสนุนด้านการอุปโภคบริโภค เพิ่มความชุ่มชื้นในพื้นที่ การรักษาระบบนิเวศ และการผลักดันค่าความเค็มได้มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำในให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมอย่างเคร่งครัดและปรับการระบายน้ำให้เหมาะสมโดยไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้าย

นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้โครงการชลประทานทุกแห่ง ติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งกำชับให้ตรวจสอบอาคารชลประทานทุกแห่งให้สามารถใช้งานได้เต็มศักยภาพ กำจัดวัชพืชไม่ให้กีดขวางทางน้ำ ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อบริหารจัดการน้ำในอ่างฯให้เป็นไปตามเกณฑ์การเก็บกักที่ได้วางไว้ และบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม-น้ำล้นตลิ่งให้ทราบโดยทั่วถึงกัน อีกทั้งยังได้จัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือไว้ในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ว สามารถออกปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนได้ตลอดเวลา หากต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร. 1460 สายด่วนกรมชลประทาน