เกษตรฯ ดัน พ.ร.บ. กองทุนและสภาการประมง หนุนชาวประมงฝ่า COVID-19

เกษตรฯ ดัน พ.ร.บ. กองทุนและสภาการประมง หนุนชาวประมงฝ่า COVID-19

 

 

เมื่อวันที่ (21 เม.ย. 63) นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการพิจารณาแก้ไขปรับปรุงหรือดำเนินการทางกฎหมายด้านการประมง ผ่านระบบ Tele Conferrence ตามนโยบาย Social Distansing ในการควบคุมการระบาดของ COVID-19 ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสภาการประมง พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติกองทุนประมงแห่งชาติ พ.ศ. ….. เพื่อเป็นกลไกในการส่งเสริมศักยภาพด้านการประมงและผู้ประกอบการเอกชนด้านการประมง ซึ่งจะสนับสนุนด้านการเงิน แก้ไขปัญหา อีกทั้งยังมีงบประมาณในการชดเชยเยียวยากรณีเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น พร้อมทั้งสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชาวประมงและผู้ประกอบการภาคเอกชนในการขับเคลื่อนนโยบายภาคการประมงของประเทศไทย

ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติกองทุนประมงแห่งชาติ พ.ศ. ….. ประกอบด้วย 6 หมวด 35 มาตรา ขับเคลื่อนโดยกองทุนประมงแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนา ผู้ประกอบกิจการด้านการประมง ให้มีศักยภาพในการทำการประมง รวมทั้งใช้ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ สำหรับร่างพระราชบัญญัติสภาการประมง พ.ศ. …. ประกอบด้วย 6 หมวด 41 มาตรา และบทเฉพาะกาล 4 มาตรา ขับเคลื่อนโดยสภาการประมงแห่งประเทศไทย ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นตัวแทนของสมาชิกผู้ประกอบกิจการด้านการประมง ในการเสนอความเห็น และสนับสนุนการดำเนินงานด้านนโยบายระหว่างภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวกับกิจการด้านการประมง รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการอนุรักษ์และบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้อยู่ในภาวะที่เหมาะสมและสามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน และดำเนินกิจการอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อภาคการประมง โดยสมาชิกสภาจะมาจากผู้แทนในทุกภาคส่วนด้านการประมง ซึ่งร่าง พ.ร.บ. ทั้งสองฉบับที่ได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากคณะกรรมการฯ แล้ว จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีก่อนเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรตามระเบียบต่อไป

 

“ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการผลิตและส่งออกผลผลิตทางการเกษตรและอาหารของโลก ซึ่งปัจจุบันเป็นอันดับที่ 2 ของเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการประมง ที่ได้รับมาตรฐานรับรองระดับโลก และได้ผ่านมาตรฐานการแก้ไขปัญหา IUU อันเป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ และเพื่อต่อยอดความสำเร็จดังกล่าว อีกทั้งภายใต้สถานการณ์ การแพร่ระบาด COVID-19 ที่ทำให้ทั่วโลกต้องกลับมาตระหนักถึงความมั่นคงทางอาหารเพื่อป้องกันการขาดแคลนอาหารซึ่งประเทศไทยจะต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อนานาชาติ จึงจำเป็นต้องมีกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชาวประมง ทั้งในด้านการเงิน และการให้ชาวประมงมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนโดยสมบูรณ์ จึงจำเป็นที่จะต้องผลักดันพระราชบัญญัติกองทุนประมงแห่งชาติและสภาการประมง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีการเกิดวิฤติการณ์อย่างในปัจจุบัน ที่จะได้มีกองทุนสำหรับการช่วยเหลือชาวประมงได้ทันทีในอนาคต ตลอดจนพื้นที่สำหรับการแสดงออกและร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอย่างรอบด้าน ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของภาคการประมงไทย” นายอลงกรณ์ กล่าว