น่าชื่นชม…นิสิตป.เอก ม.เกษตรศาสตร์ ค้นพบพยาธิตัวแบนกลุ่มโมโนจีนชนิดใหม่ของโลก ตั้งชื่อเป็นเกียรติว่า “kasetsartensis”
นางสาวชมพูนุช แสงเพ็ง นิสิตระดับปริญญาเอก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับพยาธิตัวแบนกลุ่มโมโนจีนจากปลาวงศ์ปลากะรังในประเทศไทย และอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ รศ.ดร. วัชริยา ภูรีวิโรจน์กุล ภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกันค้นพบพยาธิตัวแบนกลุ่มโมโนจีนชนิดใหม่ของโลก คือ Pseudorhabdosynochus kasetsartensis จากเหงือกของปลากะรังลายเมฆ (Cloudy grouper ) ทางอ่าวไทยตอนล่าง บริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ ว่า Pseudorhabdosynochus kasetsartensis Saengpheng & Purivirojkul, 2020 นับเป็นการค้นพบในประเทศไทยและเป็นการค้นพบใหม่ของโลก แสดงให้เห็นถึงความหลายทางชีวภาพ รวมทั้งใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับผู้ที่จะเพาะเลี้ยงปลาชนิดนี้ต่อไป
รศ.ดร. วัชริยา ภูรีวิโรจน์กุล เปิดเผยว่า ชื่อชนิด kasetsartensis ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากทุนคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (BDC-PG2-161004)
สำหรับการศึกษาปรสิตกลุ่มโมโนจีนสามารถใช้เป็นดัชนีทางชีวภาพบ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ มลพิษทางเคมีในน้ำ และมีความเป็นไปได้ที่จะใช้เป็นตัวบ่งชี้เรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับปลาเจ้าบ้าน นอกจากนี้การที่ปลามีการติดเชื้อปรสิตโมโนจีนบริเวณซี่เหงือกจะทำให้เกิดการเพิ่มจำนวนของเซลล์เยื่อบุผิวเหงือก เกิดการเชื่อมรวมกันของกิ่งเหงือก (secondary lamellae) ทำให้พื้นที่ในการแลกเปลี่ยนก๊าซลดลง ถ้ามีปรสิตชนิดนี้ในปริมาณมากปลาจะตายเนื่องจากขาดออกซิเจน โดยทั่วไปปลาธรรมชาติ จะพบปรสิตกลุ่มโมโนจีนไม่เยอะมาก ไม่ทำให้ปลาตาย ส่วนใหญ่ จะพบในบ่อเลี้ยงปลา ที่มีสารอินทรีย์สูง โมโนจีนมีชื่อเรียกอีกอย่างว่าปลิงใส เป็นปัญหาของเกษตรกรที่เพาะเลี้ยงปลา วิธีการแก้ไขคือ เกษตรกรสามารถใช้สารเคมีสำหรับกำจัดปรสิตภายนอกทั่วไป เช่นฟอร์มาลิน, ยาเหลือง กำจัดโมโนจีนก่อนปล่อยปลาลงเลี้ยง
ลักษณะทั่วไป และลักษณะที่บ่งบอกว่าเป็นชนิดใหม่ของโลก กล่าวคือ พยาธิตัวแบนกลุ่มโมโนจีนเป็นปรสิตภายนอก ส่วนใหญ่พบตามซี่เหงือกของปลาโดยพบได้ทั้งในปลาน้ำจืด และปลาทะเล แพร่กระจายได้ทั่วโลก มีความจำเพาะต่อปลาเจ้าบ้านค่อนข้างสูง โมโนจีนสกุล Pseudorhabdosynochus เป็นปรสิตขนาดเล็ก ขนาดประมาณ 0.2-1.5 มิลลิเมตร ลำตัวใส ปลายด้านหน้ามีเฮดออร์แกน (head organ) 3 คู่ มีจุดรับแสง (eye spot) 2 คู่ ระบบทางเดินอาหารมีคอหอย (pharynx) เป็นกล้ามเนื้อรูปร่างกลม ต่อจากคอหอยเป็นหลอดอาหาร (esophagus) สั้น และส่วนของลำไส้ซึ่งแยกเป็น 2 แขนง (intestinal caecum) จากส่วนหัวลงมาจะมีโคพูลาทอรีออร์แกน (copulatory organ) ส่วนท้ายมีอวัยวะช่วยยึดเกาะคือ โอพิสแฮพเตอร์ (opishaptor, opisthohaptor หรือ haptor) มีขนาดใหญ่แผ่กว้างอยู่ทางท้ายตัว ลักษณะสำคัญที่พบในโมโนจีนสกุลนี้คือมี เมล ควอดริโลคูเลท ออร์แกน (male quadriloculate organ) เป็นอวัยวะที่ใช้ยึดเกาะในการผสมพันธุ์ รูปทรงคล้ายเครื่องหมายจุลภาค (comma shape) ภายในแบ่งออกเป็น 4 ช่อง (chambers) รวมทั้งลักษณะของสเคลอโรทิส วาไจนา (sclerotised vagina) ซึ่งเป็นอวัยวะที่ใช้สืบพันธุ์ของ Pseudorhabdosynochus แต่ละชนิดมีลักษณะที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน โดย Pseudorhabdosynochus kasetsartensis มีสเคลอโรทิส วาไจนาที่ด้านหน้ามีลักษณะเป็นปากแตรผนังหนาตามด้วยท่อยาวมีผนังบางและม้วนเป็นเกลียวบริเวณกลางท่อ รวมทั้งจำนวนของแถวในแต่ละวงของสควอโมดิส (squamodisc) ซึ่งมีจำนวนมากกว่า Pseudorhabdosynochus ชนิดอื่น
ข้อมูลอ้างอิง
Saengpheng, C. and W. Purivirojkul. 2020. Pseudorhabdosynochus kasetsartensis n. sp. (Monogenea: Diplectanidae) from the cloudy grouper Epinephelus erythrurus (Valenciennes) (Perciformes: Serranidae) in the lower Gulf of Thailand. Systematic Parasitology 97: 99–106
ข่าวโดย : ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์
นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
21 เมษายน 2563