สภาเอสเอ็มอีชี้หลังวิกฤตโควิด-19 “Economic Restarting” แนะรัฐสนับสนุน SMEs กลุ่มปัจจัยสี่-การเกษตร แนวหน้ากู้ศก.
สภาเอสเอ็มอีนำเสนอผลการสำรวจและมาตรการช่วยเหลือ SMEs ทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ในที่ประชุมคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนใน ศบค. พบว่าประมาณร้อยละ 60 ของ SMEs มีรายได้ไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อปี และมีการจ้างงานรายละไม่เกิน 25 คน กว่าร้อยละ 45 อยู่ในกลุ่มธุรกิจปัจจัยสี่ มาตรการที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือลำดับแรก คือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการตลาด ซึ่งกว่าร้อยละ 90 ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนระบบธนาคาร แนะภาครัฐใช้งบประมาณจังหวัดส่งเงินช่วยเหลือขั้นต้นก่อนงบฟื้นฟูเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาทจะออก
เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2563 นายไชยวัฒน์ หาญสมวงศ์ ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย (สภาเอสเอ็มอี) พร้อมด้วย นายสุปรีย์ ทองเพชร รองประธาน และนายกสมาคมการค้าวัสดุอุปกรณ์การพิมพ์ไทย นำเสนอผลการสำรวจ SMEs ทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 และเสนอแนะมาตรการช่วยเหลือ SMEs กลุ่มดังกล่าวในที่ประชุมคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ผ่านระบบ VDO Conference ไปยังห้องประชุม 521 อาคาร 5 ชั้น 2 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมีตัวแทนภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับ SMEs ทุกหน่วยงานเข้าร่วมประชุม
ผลสำรวจพบว่า ประมาณร้อยละ 60 ของ SMEs มีรายได้ไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อปี และมีการจ้างงานรายละไม่เกิน 25 คน กว่าร้อยละ 45 อยู่ในกลุ่มธุรกิจปัจจัยสี่ ได้แก่ ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค อาหารและเครื่องดื่ม และธุรกิจการเกษตร ซึ่งมาตรการที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือลำดับแรก คือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการตลาด ทั้งนี้ กว่าร้อยละ 90 ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนระบบธนาคารได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้กลไกพิเศษในการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไปที่มีการแจกเงินช่วยเหลือไปก่อนหน้านี้
ข้อเสนอจากการสำรวจ
1.จัดลำดับความสำคัญในการส่งความช่วยเหลือด้านการเงินทีไม่ใช่ระบบธนาคารไปยัง SMEs รายเล็กที่อยู่ในกลุ่มปัจจัยสี เนื่องจากกลุ่มนี้ครอบคลุมจำนวนประมาณร้อยละ 90 ของ SMEs ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบธนาคารได้ โดยเริ่มต้นจากการใช้งบประมาณของจังหวัดจากผู้ว่าราชการจังหวัดเบิกจ่ายโดยตรงทันทีผ่านไปยังหน่วยงานภาคเอกชนในพื้นที่ ได้แก่ สมาคม วิสาหกิจชุมชน คลัสเตอร์ธุรกิจต่างๆ เป็นต้น ด้วยระบบคัดกรองที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ เพื่อบรรเทาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบโดยตรงในเบื้องต้น เมื่องบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจเพิ่มเติม 400,000 ล้านบาท อนุมัติก็สามารถส่งความช่วยเหลือเพิ่มเติมผ่านกระบวนการดังกล่าว
ได้ทันที นอกจากนี้ ยังได้ฐานข้อมูล SMEs รายจังหวัดทั่วประเทศไปในคราวเดียวอีกด้วย
2.เนื่องด้วย COVID-19 จะเป็น Economic Restarting ทั้งโลกจะกลับมามองหาปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิตโดยเฉพาะอาหาร ดังนั้น จึงต้องเร่งให้เกิดการสร้างผลผลิตทางการเกษตรเพื่อป้อนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่องไปในระบบห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain)
“สภาเอสเอ็มอีเดินหน้ารวบรวมข้อมูล SMEs ที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมออกไปอีก 1 เดือน ผ่านภาคีเครือข่าย และประธานจังหวัด เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครอบคลุมในระดับพื้นที่มากยิ่งขึ้น และขยายผลร่วมกับสภาเกษตรการแห่งชาติ และ สสว. เพื่อสรุปส่ง ศบค. ต่อไป” นายไชยวัฒน์ กล่าว