รมว. เฉลิมชัยสั่งกยท. เร่งผลักดันราคายางพาราทั้งระบบหลังได้รับผลกระทบการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ไม่มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ราคาจึงลดลงเล็กน้อย
ขณะนี้กำลังพิจารณาช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง โดยอาจทำโครงการประกันรายได้ครั้งที่ 2
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้มอบหมายให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพาราที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ส่งผลให้การส่งออกได้น้อยมากเนื่องจากประเทศที่เป็นผู้รับซื้อรายใหญ่เกิดการระบาดของโรคนี้อย่างรุนแรงเช่นกัน แม้สถานการณ์ในจีนจะเริ่มคลี่คลายแล้ว แต่คำสั่งซื้อยังไม่กลับมาเท่าเดิม สำหรับราคายางพาราในประเทศตั้งแต่ต้นปีมีสภาพทรงตัวและลดลงเล็กน้อย โดยวานนี้ (14 เมษายน) ราคายางแผ่นดิบคุณภาพดีอยู่ที่ 36.69 บาท/กิโลกรัม น้ำยางสด 37 บาท/กิโลกรัม และยางก้อนถ้วย 27.20 บาท/กิโลกรัม
ทั้งนี้กยท. รายงานว่า ตลาดรับซื้อของเอกชนปิดรับซื้อชั่วคราวเนื่องจากส่งออกทั้งยางวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์แปรรูปไปต่างประเทศลดลงมาก กยท. จึงแก้ปัญหาโดยให้เกษตรกรนำยางพารามาขายที่ตลาดกลางยางพารา 6 แห่งประกอบด้วย จังหวัดบุรีรัมย์ หนองคาย สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา และยะลา เครือข่ายตลาดกลาง 111 แห่ง และตลาด กยท.จังหวัด /สาขา 105 แห่ง ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อรองรับการจำหน่ายผลผลิตยางของเกษตรกรได้ทั่วประเทศ โดยสามารถเข้าชื่อจุดดรับซื้อยางทั้ง 222 แห่งทั่วประเทศได้ที่ www.raot.co.th
นายเฉลิมชัยกล่าวต่อว่า กำลังพิจารณาเรื่องการทำโครงการประกันรายได้ยางพาราครั้งที่ 2 โดยอยู่ระหว่างหารือกับนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวพาณิชย์ หากได้ข้อสรุปแล้วจะนำเรียนนายกรัฐมนตรี แล้วเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไปเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร ในกรณีที่ราคายางตกต่ำลงอีก หากวิกฤติการโรคคิด-19 ยืดเยื้อ สำหรับโครงการประกันรายได้ยางพาราระยะที่ 2 ซึ่งจะเสนอครม. พิจารณามีระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือนเมษายน – กันยายน 2563 คาดว่า จะสามารถเพิ่มรายได้แก่ชาวสวนยาง 1,730,000 ราย พื้นที่ 19.4 ล้านไร่ซึ่งเป็นสวนยางอายุ 7 ปี ขึ้นไปที่เปิดกรีดแล้ว รายละไม่เกิน 25 ไร่ ราคายางที่ใช้ประกันรายได้แต่ละชนิดได้แก่ ยางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 บาท/ กิโลกรัม น้ำยางสด (DRC 100%) 57 บาท/กิโลกรัม ยางก้อนถ้วย (DRC 100%) 46 บาท/กิโลกรัม ทั้งนี้ราคาที่คณะกรรมการกำหนดราคากลางอ้างอิงประกาศทุก 2 เดือนนั้นพิจารณาจากราคาตลาดกลางยางพารา ตลาดสิงคโปร์ (SICOM) ตลาดโตเกียว (TOCOM) ตลาดเซี่ยงไฮ้ และปัจจัย อื่นๆ กำหนดให้แบ่งสัดส่วนรายได้เจ้าของสวนร้อยละ 60 และคนกรีดร้อยละ 40ของรายได้ทั้งหมด ประมาณการณ์งบประมาณโครงการประกันรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 วงเงิน 34,938,295,360.47 บาท นอกจากนี้ยังจะเสนอโครงการพัฒนาความร่วมมือการผลิตและการตลาดภาคอุตสาหกรรมยางพาราเพื่อเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราภายในประเทศ สร้างรายได้ให้เกษตรกร และสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง กระตุ้นให้มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า เกิดความร่วมมือด้าน การผลิตและการตลาดระหว่างเกษตรกรชาวสวนยาง ภาครัฐ และภาคเอกชนเพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้แก่สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางผู้ผลิต ผลิตภัณฑ์ยางพาราที่ขึ้นทะเบียนกับกยท. และสมัครเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายหมอนยางพารา ซึ่งกยท. สนับสนุนเงินทุนให้แก่สถาบันเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกร ผู้ผลิตหมอนยางพาราระหว่างรอการจำหน่าย โดยใช้ผลิตภัณฑ์หมอนยางพาราเป็นหลักประกัน 50,000 ใบ คาดว่า จะมีผู้เข้าร่วมโครงการ 50 สถาบัน วงเงินงบประมาณ 11,312,000.00 บาท
สำหรับโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง วงเงิน 15,000 ล้านบาท โดยปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานในปีนี้ ผู้ประกอบกิจการยางที่เข้าร่วมโครงการต้องเพิ่มปริมาณการใช้ยางไม่น้อยกว่า 2 ตันต่อปี ในทุกวงเงิน 1 ล้านบาทซึ่งคาดว่าจะเพิ่มปริมาณการใช้ยางไม่น้อยกว่า 50,000 ตัน ต่อมาคือ โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) วงเงิน 20,000 ล้านบาทเพื่อเพิ่มกิจกรรมให้ผู้ประกอบกิจการยางซึ่งต้องซื้อยางในฤดูกาลใหม่มาเป็นวัตถุดิบในการผลิต โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยในอัตราตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปี เพื่อสนับสนุนในช่วงที่ผู้ประกอบกิจการไม่มีกำลังซื้อ ช่วยให้เกิดการหมุนเวียนผลผลิตของชาวสวนยาง และท้ายสุดคือ โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการไม้ยางและ ผลิตภัณฑ์ วงเงิน 20,000 ล้านบาท โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี รวมถึงการสนับสนุนให้ปลูกพืชอื่นทดแทนยางพาราเพื่อลดพื้นที่ปลูกลง กำหนดให้ลดพื้นที่ปลูกทั่วประเทศรวม 400,000 ไร่ คาดว่า จะดูดซับปริมาณยางที่จะออกสู่ตลาดได้ 12 ล้านตัน
“การกำหนดมาตรการดังกล่าวเป็นการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำครอบคลุมทั้งระบบ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น ส่วนผลการดำเนินโครงการประกันรายได้ระยะที่ 1 สามารถช่วยเหลือเกษตรกรให้ขายยางให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ราคายางเริ่มปรับตัวสูงขึ้น จนเมื่อเกิดโรคโควิด-19 ระบาดในหลายประเทศจึงส่งผลกระทบต่อการจำหน่ายยางซึ่งไทยส่งออกมากเป็นอันดับ 1 ของโลก ทำให้ทั้งเกษตรกรและผู้ประกอบการขาดสภาพคล่อง มั่นใจว่า มาตรการทั้งหมดนี้จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้อยู่ในอุตสาหกรรมผลิตยางพาราได้” นายเฉลิมชัยกล่าว