กรมประมง แจงแนวปฏิบัติ ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ผู้ประกอบการ ชาวประมง ที่จำเป็นจะต้องประกอบอาชีพช่วงเวลาเคอร์ฟิว
นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรและได้ออกข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 2 เมษายน 2563 “ห้ามบุคคลใดทั่วราชอาณาจักรออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 22.00 น. – 04.00 น.ของวันรุ่งขึ้น เว้นแต่มีความจำเป็นหรือเป็นผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ การธนาคาร การขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภค ผลผลิตการเกษตร ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ หนังสือพิมพ์ การขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง การขนส่งพัสดุภัณฑ์ การขนส่งสินค้าเพื่อการนำเข้าหรือส่งออก การขนย้ายประชาชนไปสู่ที่เอกเทศเพื่อกักกันตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ การเข้าออกเวรทำงานผลัดกลางคืนตามปกติ หรือการเดินทางมาจากหรือไปยังท่าอากาศยาน โดยมีเอกสารรับรองความจำเป็นหรือเอกสารเกี่ยวกับสินค้าหรือการเดินทาง หรือคำสั่งต่างๆ ของทางราชการ หรือมีเหตุจำเป็นอื่นๆ โดยได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่”
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ผู้ประกอบอาชีพด้านการประมงตลอดภาคการผลิต อาทิ เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ผู้ประกอบการ ชาวประมง ฯลฯ เข้าใจและมีแนวทางในการประกอบอาชีพได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและสอดคล้องตามเจตนารมย์ของรัฐบาล ที่ต้องการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ภายในประเทศ โดยในส่วนของผู้ประกอบอาชีพทางการประมงที่จะได้รับการยกเว้นให้ออกนอกเคหสถานในช่วงเวลาเคอร์ฟิว มีแนววิธีปฏิบัติที่เป็นไปตามข้อกำหนด พรก.ฉุกเฉิน (ฉบับที่ 2) ข้อสั่งการของกระทรวงมหาดไทย และข้อสั่งการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดังนี้
1. การประกอบอาชีพทางการประมงตลอดสายการผลิตที่จำเป็นจะต้องออกนอกเคหสถานไปประกอบอาชีพทางการประมงและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องในช่วงเวลาเคอร์ฟิว (เวลาที่ห้าม 22.00 – 04.00 น.) โดยไม่สามารถปรับเปลี่ยนช่วงเวลาได้ ให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ผู้ประกอบการ ชาวประมง ฯลฯ ขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ (กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ หรือ ตำรวจประจำท้องที่)
2. การขนส่งผลผลิตทางการประมง สินค้าประมง เพื่อนำเข้าหรือส่งออก หรือส่งข้ามเขตพื้นที่หรือข้ามจังหวัด แบ่งได้ 3 กรณี คือ
(1) กรณีการขนส่งของภาคเอกชน : จะต้องมีหนังสือรับรองบุคคล โดยให้ผู้ประกอบการ/นายจ้าง ของผู้เดินทางไปกับพาหนะในการขนส่งเป็นผู้ออกหนังสือรับรองให้กับผู้เดินทาง ซึ่งหนังสือดังกล่าวจะต้องระบุ
ชื่อ – สกุล / เลขบัตรประจำตัวประชาชน / อาชีพ / ตำแหน่ง และระบุภารกิจ / เวลาในการเข้า – ออก และระบุต้นทาง ปลายทาง และประเภทของสินค้าให้ชัดเจน นอกจากนี้ กรณีมีเอกสารเกี่ยวกับตัวสินค้า เช่น MD , FMD , MCPD ให้นำแนบไปด้วย
(2) กรณีการขนส่งของผู้ประกอบการหรือเกษตรกรที่ขนส่งผลผลิตด้วยตนเอง หรือ กรณีจำเป็นต้องให้ทางราชการออกหนังสือรับรอง ให้เจ้าหน้าที่กรมประมงออกหนังสือรับรองให้ โดยให้เร่งรัดบริการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนอย่างให้ได้รับผลกระทบ โดยให้ประมงจังหวัด ประมงอำเภอ และหน่วยงานของกรมประมงทุกแห่งประสานกับจังหวัด อำเภอ เพื่อให้การบริการประชาชนเป็นไปในแนวทางและมีความสอดคล้องกัน
(3) กรณีการขนส่งสัตว์น้ำของหน่วยงานกรมประมง ให้ปฏิบัติตามแนวทางของภาคเอกชน คือ ต้องมีหนังสือรับรอง ซึ่งออกโดยหัวหน้าหน่วยงานต้นสังกัด
อย่างไรก็ตาม แนวปฏิบัติดังกล่าว เป็นเพียงแนวปฏิบัติโดยภาพรวมที่แจ้งเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนสำหรับผู้ประกอบอาชีพทางการประมงตลอดสายการผลิตที่มีความจำเป็นเท่านั้น ทั้งนี้ หากจังหวัดใดมีมาตรการใดที่เข้มงวดหรือหลักปฎิบัติที่เป็นข้อปฏิบัติต้องยึดปฏิบัติตามข้อสั่งการของพื้นที่เป็นหลักเพื่อความเหมาะสมของการบริหารจัดการในแต่พื้นที่ด้วย สุดท้าย กรมประมงพร้อมที่จะช่วยเหลือ แก้ปัญหา อยู่เคียงข้างกับทุกคน ขอให้กำลังใจให้ทุกคนอดทน และสู้กับวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน…รองอธิบดีกรมประมง กล่าว