“เกษตร” จับมือพาณิชย์ และคมนาคม ลงนาม mou เร่งกระจายผลไม้และสินค้าเกษตรออกสู่ตลาดในและนอกประเทศ
ผลักดัน 5 โครงการเร่งด่วนช่วยเหลือเกษตรที่ได้รับผลกระทบCovid-19 พร้อมเตรียมเปิดตัวตลาดเกษตรออนไลน์ 9 เม.ย.นี้
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดภายหลังการประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ ครั้งที่ 3/2563 โดยมี นายนราพัฒน์ แก้วทอง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ , นายสรรเสริญ สมะลาภา กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางบริหารจัดการการขนส่งและการกระจายผลไม้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 จากการคาดการณ์ปริมาณผลไม้ฤดูการผลิต2563 ที่จะเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป
รวมทั้งการแก้ไขปัญหาผลผลิตมะม่วงที่ไม่สามารถส่งออกได้ราว 360,000 ตัน ทั้งนี้ ในปี 2563 ได้มีการคาดการณ์ปริมาณผลผลิตไม้ผลในส่วนภาคตะวันออก คือ ทุเรียน 584,712 ตัน มังคุด 201,741 ตัน และเงาะ 220,946 ตัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต้องหาแนวทางในการบริหารจัดการให้ผลผลิตสามารถกระจายออกสู่ตลาดได้ไม่เกิดภาวะสินค้าเกษตรล้นตลาด นอกจากนี้สินค้าเกษตรประเภทพืชผัก ไม้ดอก ประมง ปศุสัตว์ก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสCovid-19 เช่นกัน
ด้านนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีความห่วงใยเรื่องดังกล่าว พร้อมกำชับให้หน่วยงานในสังกัดเร่งหามาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร โดยมีมติเห็นชอบ 2 มาตรการ คือ 1) มาตรการช่วยเหลือในการกระจายและควบคุมคุณภาพสินค้า มี 5 โครงการย่อย ได้แก่ โครงการประสานใจเกษตรกรไทยสู่พี่น้องชาวจีนสู้วิกฤต COVID-19 เป้าหมาย ทุเรียน 20 ตัน มังคุด 20 ตัน, โครงการรณรงค์ส่งเสริมการบริโภคผลไม้ภายในประเทศ Eat Thai First เป้าหมาย 111,000 ตัน, โครงการสินค้าเกษตร ไทยปลอดภัยจาก COVID-19 เป้าหมาย รับรอง GAP 70,000 แปลง รับรอง GMP 180 โรง และโครงการหาตลาดใหม่ สินค้าเกษตรเพิ่มเติม ได้แก่ จีน UAE ตุรกี และเครือรัฐออสเตรเลีย ซึ่งแต่ละโครงการจะมีหน่วยงานในสังกัดกระทรวง เกษตรและสหกรณ์ร่วมเป็นเจ้าภาพรับผิดชอบในการกระจายผลผลิตไปยังแหล่งต่าง ๆ และ 2) มาตรการช่วยเหลือทางการเงินแก่สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการ
นอกจากนี้ ได้มอบให้กรมส่งเสริมการเกษตรจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อสนับสนุนหรือบริโภคสินค้าเกษตรไทยสู้ภัย Covid-19 และกระทรวงเกษตรฯ ได้ประสานงานเกี่ยวกับแนวทางบริหารระบบการจัดการขนส่งผลไม้ (Logistic) เพื่อ จัดการผลผลิตให้สามารถกระจายได้ในพื้นที่ 77 จังหวัด และจำหน่ายออกสู่ต่างประเทศให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือร่วมกันพิจารณาทางเลือกในการขนส่งหลาย ๆ ช่องทางทั้งทางอากาศ ทางบก และทางเรือ เพื่อวิเคราะห์หาจุดคุ้มค่าในการขนส่ง และลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกัน ทั้งนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบให้เพิ่มเป้าหมาย ปริมาณผลไม้ที่จะเข้าสู่มาตรการช่วยเหลือเพิ่มเป็น 200,000ตัน และสนับสนุนส่งออกมะม่วงส่วนเกินมีจำนวน 4,400 ตัน (เกาหลี 3,800 ตัน ญี่ปุ่น 600 ตัน) นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีมติให้มีการจัดระบบผลผลิต การบรรจุภัณฑ์ การขนส่งและการกระจายผลไม้ทุกชนิด ผ่านตลาดชุมชนท้องถิ่นจำนวน 9,048แห่ง รวมถึงร้านธงฟ้าพาณิชย์ อีกกว่า50,000แห่ง และ รถพุ่มพวง 300คัน เพื่อกระจายและจำหน่ายภายในประเทศ และที่ประชุมยังขอความร่วมมือบริษัท logistic พิจารณาลดค่าบริการขนส่งผลไม้และยังเพิ่มช่องทางการค้าonline หรือ e-commerc เพื่อให้การบริหารจัดการด้านการขนส่งและกระจายสินค้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบให้มีการลงนามความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในวันที่ 9 เม.ย. 63 ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับ กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงคมนาคม จัดให้มีพิธีลงนาม MOU ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน อาทิ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และกรมการค้าภายใน ตลอดจนสมาพันธ์โลจิสติกไทย บริษัท การบินไทย (มหาชน)จำกัด และผู้ให้บริการขนส่ง อาทิ Kerry ไปรษณีย์ไทย เป็นต้น
ด้านนายทวี มาสขาว รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทุกภาคส่วนจากการปิดเมืองหรือการยกเลิกกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการผลิต การค้าปลีก การค้าระหว่างประเทศ การขนส่ง รวมทั้งสินค้าเกษตร ซึ่งบางสินค้าจะมีผลผลิตออกมากในช่วงวิกฤตนี้และไม่สามารถส่งออกได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะตลาดเกาหลี ญี่ปุ่น ยุโรป ซึ่งต้องส่งทางเครื่องบินและขณะนี้ไม่มีเที่ยวบินไปยังประเทศเหล่านี้ ตลาดในประเทศชะลอตัวเนื่องจากผู้บริโภคเดินตลาดน้อยลง และ เน้นการซื้อสินค้าที่จำเป็นมากกว่า ทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากไม่สามารถจำหน่ายผลผลิตได้ ซึ่งสินค้า ไม่สามารถเก็บรักษาได้ในระยะเวลานาน เช่น มะม่วง มังคุด องุ่น ลิ้นจี่ ลำไย พืชผัก ไม้ดอกต่าง ๆ เป็นต้น จึงจำเป็นต้องรีบจำหน่ายผลผลิตให้ถึงมือผู้บริโภคก่อนสินค้าเกษตรจะเสียหาย
กระทรวงเกษตรเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสจัดทำโครงการสนับสนุนสินค้าเกษตรไทยสู้ภัย COVID-19 เพื่อรณรงค์ส่งเสริมสินค้าเกษตรไทยและช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนในช่วงสถานการณ์ COVID – 19 ภายใต้แนวคิด (Campaign) “ซื้อสินค้าเกษตรไทย เกษตรกรอยู่ได้ ประเทศไทยอยู่รอด” โดยให้ส่วนราชการ บริษัท ห้าง/ร้าน และประชาชนช่วยกันอุดหนุนซื้อสินค้าเกษตรคุณภาพดีไปมอบให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ ทหาร เทศกิจ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ที่ต้องเสียสละเวลาในการดูแลประชาชนในพื้นที่ หรือเป็นของขวัญของฝากคนที่รักและห่วงใยแก่ครอบครัวที่ต้องอยู่ห่างไกลกัน ให้ได้บริโภคสินค้าเกษตรสดและมี คุณภาพในช่วงนี้ รูปแบบการดำเนินงานเบื้องต้นจะเชิญชวนหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ บริษัท ห้าง/ร้าน และประชาชน ร่วมสั่งซื้อสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพจากเกษตรกร และนำไปมอบให้กับผู้มีภารกิจหน้าที่ในการป้องกัน รักษา สุขภาพของประชาชนต่อสู้ภัย COVID – 19 ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค โดยกรมส่งเสริมการเกษตรหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบสินค้านั้น ๆ เช่น กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมการข้าว ประสานอำนวยความสะดวกการสั่งซื้อสินค้าจาก เกษตรกรให้กับกลุ่มเป้าหมายที่มีความประสงค์จะสั่งซื้อสินค้าดังกล่าว
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับมาตรการช่วยเหลือในการกระจายและควบคุมคุณภาพสินค้าสู้ภัย COVID-19 ทั้ง 4 โครงการย่อยนั้นกรมส่งเสริมการเกษตรร่วมสนับสนุนในทุกโครงการ โดยเฉพาะ
โครงการรณรงค์ส่งเสริมการบริโภคผลไม้ภายในประเทศ Eat Thai First ขณะนี้กรมส่งเสริมการเกษตรได้ประสานงานกับตลาดไทและ Home pro เรียบร้อยแล้ว มีเป้าหมายการจำหน่ายสินค้าทั้ง 2 แห่ง รวม 1,200 ตัน โดยตลาดไทยินดีให้ใช้พื้นที่ในช่วงฤดูกาลผลิต นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ในการส่งเสริมเกษตรกรให้ จำหน่ายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ โดยคัดเลือกเกษตรกรและเกษตรกรแปลงใหญ่ลงทะเบียนกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เพื่อกระจายสินค้าสู่ตลาดปลายทาง เป้าหมาย 2,000 ตัน ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ค่าขนส่งสินค้าเกษตรเฉพาะผัก และผลไม้สด กิโลกรัมละ 8 บาท ภายใต้เงื่อนไขเกษตรกรต้องสมัคร เป็นสมาชิกจำหน่ายสินค้าเกษตรผ่านระบบ Thailandpostmart.com และเมื่อสมัครต้องใส่โค้ด : กรมส่งเสริมการเกษตร และต้องได้รับการอนุมัติให้ขายผ่าน Thailandpostmart.com นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรยังได้เตรียมเปิดเพจส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าเกษตรผ่านระบบออนไลน์ภายใต้ชื่อ “ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com” ซึ่งจะมีหมวดหมู่สินค้าให้เลือกช้อป 9 หมวดหมู่ ได้แก่ ผัก, ผลไม้, ไม้ดอกไม้ประดับ, ข้าวและธัญพืช, อาหารแปรรูปและเครื่องดื่ม, สมุนไพรและเครื่องสำอาง, ผ้าและเครื่องแต่งกาย , หัตถกรรมและสิ่งประดิษฐ์ และอื่น ๆ โดยจะเริ่มเปิดตัวในวันที่ 9 เมษายน 2563 นี้