ชป.เดินหน้าบรรเทาปัญหาภัยแล้ง พร้อมเตรียมรับมือพายุฤดูร้อนทางตอนบนของประเทศ

ชป.เดินหน้าบรรเทาปัญหาภัยแล้ง พร้อมเตรียมรับมือพายุฤดูร้อนทางตอนบนของประเทศ

 

 

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ VDO Conference ไปยังผู้แทนจากกรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ(องค์การมหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รวมไปถึงสำนักงานชลประทานเครือข่าย SWOC ทั่วประเทศ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำจากพื้นที่ต่างๆ ในช่วงฤดูแล้ง พร้อมวางแผนรับมือฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงนี้

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์สภาพอากาศในช่วงวันที่ 9 – 10 เม.ย. 63 ว่า หย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบนตลอดช่วง ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ประกอบกับลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ ยังคงพัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น ส่วนในวันที่ 12 – 15 เม.ย. 63 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนยังคงมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ส่งผลทำให้ประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น นั้น

ขณะที่สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน(7เม.ย.63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 37,556 ล้าน ลบ.ม. (49 % ของความจุอ่างฯ) มีปริมาณน้ำใช้การได้ 13,852 ล้าน ลบ.ม. ส่วนสถานการณ์น้ำ ใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 9,130 ล้าน ลบ.ม. (37 % ของความจุอ่างฯ) มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 2,434 ล้าน ลบ.ม. ส่วนผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งทั้งประเทศ ปัจจุบัน (7 เม.ย. 63) มีการใช้น้ำตามแผนฯ ไปแล้วประมาณ 14,882 ล้าน ลบ.ม.(แผนฯ 17,699 ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 83 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำตามแผนฯไปแล้วประมาณ 3,994 ล้าน ลบ.ม.(แผนฯ 4,500 ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 88 ของแผนฯ

ทั้งนี้กรมชลประทานได้ เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทุกแห่ง บริหารจัดการน้ำตามความเหมาะสม ให้ประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอและทั่วถึงจนสิ้นสุดฤดูแล้งนี้ อีกทั้ง ให้เตรียมแผนการบริหารจัดการน้ำหากมีฝนตกในพื้นที่ตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ในระยะนี้ไปจนถึงฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงด้วย เบื้องต้นจากการจำลองแผนการบริหารจัดการน้ำ คาดว่าสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝนปีนี้มีแนวโน้มคล้ายกับปี 2538 ที่มีฝนตกทางตอนบนค่อนข้างมาก รวมทั้ง เตรียมความพร้อมอาคารชลประทาน ทางระบายน้ำ แก้มลิงที่จะใช้เป็นพื้นที่รับน้ำหลาก การตรวจสอบเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ ให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถรับมือกับสถานการณ์น้ำและเข้าช่วยเหลือประชาชนได้ตลอดเวลา