สภากาชาดไทย ทำโครงการผลิตหน้ากากอนามัยแบบผ้า 10 ล้านชิ้น โดยประสานกับกระทรวงสาธารณสุขให้อสม. แจ้งความต้องการของประชาชนผู้ด้อยโอกาสและยากไร้ เพื่อจะส่งมอบหน้ากากให้ใช้ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

สภากาชาดไทย ทำโครงการผลิตหน้ากากอนามัยแบบผ้า 10 ล้านชิ้น โดยประสานกับกระทรวงสาธารณสุขให้อสม. แจ้งความต้องการของประชาชนผู้ด้อยโอกาสและยากไร้
เพื่อจะส่งมอบหน้ากากให้ใช้ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

 

นายแพทย์พิชิต ศิริวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ กล่าวว่า สภากาชาดไทยประสานความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขในการจัดส่งหน้ากากอนามัยแก่ประชาชนทั่วประเทศตามโครงการกาชาดไทยร่วมใจป้องกันโควิด-19 ด้วยหน้ากากอนามัยแบบผ้าซึ่งผลิต 10 ล้านชิ้น โดยจะส่งทางไปรษณีย์ให้แก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) คนละ 2 ชิ้นรวมประมาณ 2 ล้านชิ้นเพื่อไว้ใช้ป้องกันโรคระหว่างปฏิบัติงานในพื้นที่ โดยจะส่งมอบให้ประมาณกลางเดือนเมษายนนี้ สำหรับหน้ากากผ้าที่จัดทำเพื่อให้ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสและผู้ยากไร้จะเริ่มส่งผ้ามัสลินให้เหล่ากาชาดจังหวัดตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (7 เมษายน) ซึ่งผู้มีจิตอาสาจะช่วยกันตัดเย็บตามแบบมาตรฐานของสภากาชาด

นายแพทย์พิชิตกล่าวว่า ที่เลือกผ้ามัสลินมาตัดเย็บหน้ากากอนามัยเนื่องจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์วิจัยแล้วว่า มีประสิทธิภาพต้านการซึมผ่านของละอองน้ำ หากซ้อน 2 ชั้นจะกักอนุภาคขนาด 5 ไมครอนได้ และสามารถซัก แล้วนำมาใช้ซ้ำได้ถึง 100 ครั้ง การสวมหน้ากากอนามัยมีความจำเป็นต่อการยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งในการแพร่เชื้อของผู้มีความเสี่ยงและป้องกันการรับเชื้อได้ โดยหน้ากากอนามัยชนิด Surgical Mask และ N95 สงวนไว้ให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้

ขณะนี้จำนวนผู้ป่วยและผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้นทั่วประเทศ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการให้กักกันตนเองในที่พักอาศัย 14 วัน จากรายงานของเหล่ากาชาดจังหวัดและกิ่งกาชาดอำเภอพบว่า ผลการสำรวจความต้องการของผู้กักกันตนซึ่งเป็นผู้ยากไร้ รายได้ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ ผู้อายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไปและไม่มีบุคคลในครอบครัวช่วยเหลือดูแล ผู้ป่วยเรื้อรัง และผู้พิการเป็นสำคัญนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ อาหารที่จะสามารถยังชีพได้จนครบกำหนด จึงร่วมกับสำนักงานบริหารกิจการเหล่ากาชาดและสำนักงานจัดหารายได้จัดทำโครงการสนับสนุนชุดข้าว อาหาร และสิ่งจำเป็นแก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยง จึงบูรณาการทั้งกับกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทยเพื่อควบคุมโรค โดยให้อสม. รายงานความต้องการอาหารของผู้กักกันตนเองต่อนายอำเภอ รวมทั้งเข้าสู่ระบบของสภากาชาดโดยใช้ผ่านแอพพลิเคชัน “พ้นภัย” ซึ่งได้สร้างปุ่มไว้เป็นพิเศษสำหรับอสม. เพื่อแจ้งขอชุดยังชีพได้ ระบบที่วางไว้ได้ประสานห้างแมคโครทำหน้าที่ขนส่ง “ชุดธารน้ำใจกู้ชีวิตฝ่าวิกฤติโควิด-19” ซึ่งทางห้างแมคโครจะจัดรถบรรทุกชุดอาหารและสิ่งขอจำเป็นไปส่งให้สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดหรือจุดรับที่กำหนด แล้วไปมอบให้ผู้กักกันตนถึงที่พักภายใน 24 ชั่วโมง ส่วน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ส่งภายใน 48 ชั่วโมง

ล่าสุดสภากาชาดไทยจัดส่ง “ชุดธารน้ำใจกู้ชีวิตฝ่าวิกฤติโควิด-19” แล้วใน 19 จังหวัดได้แก่ ลำพูนลำปาง พิจิตร บุรีรัมย์ สกลนคร เลย อุบลราชธานี อุดรธานี บึงกาฬ สกลนคร สุรินทร์ สมุทรสาคร ลพบุรี สระบุรี ฉะเชิงเทรา นนทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ พังงา ตรัง สตูล และยะลา รวม 25,039 ชุด มูลค่า 16,525,740 บาท เชื่อว่า คำร้องขอจะเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วในไม่กี่วันนี้ จึงขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนโครงการจัดหาอาหารแก่ผู้เสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ที่อยู่ระหว่างกักกันตนเอง ผ่านสำนักงานจัดหารายได้ สภากาชาดไทยที่บัญชี ธนาคารกสิกรไทย สาขา สำนักสีลม ชื่อบัญชี “สภากาชาดไทยเพื่อภัยพิบัติ” ประเภทบัญชีกระแสรายวัน เลขที่ 001-1-34567-0