“รมช.ประภัตร” เรียกประชุมด่วน! กระทรวงทรัพยากรฯ กรมอุทยานฯ กรมปศุสัตว์ แก้ปัญหาไวรัสกาฬโรคแอฟริกาในม้า วันพุธที่ 8 เมษายนนี้ เผยนายกรัฐมนตรีชื่นชมที่สามารถควบคุมโรคในวงจำกัดได้อย่างรวดเร็ว ด้านอธิบดีกรมปศุสัตว์ เตรียมหารือผู้เชี่ยวชาญทุกภาคส่วนพิจารณาเรื่องการใช้วัคซีนป้องกันไวรัสกาฬโรคแอฟริกาในม้า

“รมช.ประภัตร” เรียกประชุมด่วน! กระทรวงทรัพยากรฯ กรมอุทยานฯ กรมปศุสัตว์ แก้ปัญหาไวรัสกาฬโรคแอฟริกาในม้า วันพุธที่ 8 เมษายนนี้

เผยนายกรัฐมนตรีชื่นชมที่สามารถควบคุมโรคในวงจำกัดได้อย่างรวดเร็ว

ด้านอธิบดีกรมปศุสัตว์ เตรียมหารือผู้เชี่ยวชาญทุกภาคส่วนพิจารณาเรื่องการใช้วัคซีนป้องกันไวรัสกาฬโรคแอฟริกาในม้า

 

 

นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ตนมีคำสั่งเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
กรมปศุสัตว์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือและกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาไวรัสกาฬโรคม้า ป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดต่อเนื่องบานปลายต่อไป

ขณะที่ นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า จากการส่งตัวอย่างเลือดของม้าป่วยและตายไปตรวจวินิจฉัยที่ห้องปฏิบัติการประเทศอังกฤษ ล่าสุดได้รับผลยืนยันตรงกับสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์ว่า เป็นโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (African Horse Sickness : ASH) โดยเป็นสายพันธุ์ (Serotype 1) ขณะนี้กำลังเตรียมหารือกับผู้เชี่ยวชาญทุกภาคส่วนเกี่ยวกับการใช้วัคซีนป้องกันโรคดังกล่าวโดยด่วนที่สุด

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีชื่นชม นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่กรมปศุสัตว์สามารถควบคุมโรคนี้ ให้อยู่ในวงจำกัดได้อย่างรวดเร็ว แม้จะเป็นโรคอุบัติใหม่ โดยนายเฉลิมชัยกำชับให้ดำเนินมาตรการยั้บยั้งการระบาดอย่างเคร่งครัด โรค ASH เป็นโรคที่รุนแรง แต่มีวัคซีนป้องกันซึ่งเป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็น (live attenuated vaccine) ปัจจุบันมีการผลิตและใช้เฉพาะในประเทศพบการระบาดบ่อยๆ เท่านั้นได้แก่ ในทวีปแอฟริกา ตะวันออกกลาง อียิปต์ สเปน โปรตุเกส โมร็อกโค ปากีสถาน และอินเดีย หากเห็นสมควรจะใช้ในไทยจะต้องนำเข้าซึ่งต้องกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้ที่ชัดเจน อีกทั้งจัดระบบการใช้วัคซีนอย่างเข้มงวดด้วยการฝังไมโครชิปเพื่อให้ทราบว่า ม้าตัวไหนได้รับวัคซีนแล้ว เป็นวิธีที่จะช่วยให้การควบคุมโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กรมปศุสัตว์จะประชุมหารือกับผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ รวมทั้งองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) เพื่อพิจารณาการใช้วัคซีนสำหรับการควบคุมโรค ASH ในไทยให้มีประสิทธิภาพสูงสุดโดยด่วนต่อไป

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดรายงานการระบาดวันที่ 5 เมษายน พบม้าตายใน 6 จังหวัดได้แก่ นครราชสีมา 162 ตัว ชัยภูมิ 1 ตัว ประจวบคีรีขันธ์ 13 ตัว เพชรบุรี 2 ตัว ราชบุรี 3 ตัว และชลบุรี 5 ตัว รวม 186 ตัว ซึ่งทางกรมปศุสัตว์มั่นใจว่า หากเจ้าของคอก จัดทำระบบป้องกันทางชีวภาพของคอกอย่างดี กำจัดแมลงดูดเลือดที่เป็นพาหะ กางมุ้งให้ม้า ใช้น้ำยาเช็ดตัวม้าป้องกันแมลงกัด รวมทั้งดำเนินมาตรการห้ามเคลื่อนย้ายม้าอย่างเคร่งครัด เชื่อว่า สถานการณ์จะดีขึ้นมาก สำหรับสาเหตุการเกิดโรค AHS ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ของไทย รวมทั้งการดำเนินโรคที่ทำให้เกิดการระบาดอยู่ระหว่างการสอบสวนโรคซึ่งต้องทำอย่างละเอียดรอบคอบเพื่อหาข้อสรุปที่แน่ชัด