“ประภัตร” สั่งปศุสัตว์สรุปสถานการณ์โรค กาฬโรคแอฟริกาในม้า ด่วนที่สุด
พร้อมเตรียมประชุมหาทางออกร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด กระทรวงทรัพย์ฯ กรมอุทยานฯ กรมปศุสัตว์
หลังยอดตายทะลุ 154ตัวแล้ว ยังมีอาการป่วย10ตัว จากฟาร์มเลี้ยง4จว. รวม 835ตัว ฟาร์มเลี้ยง32ราย ยันมีวัคซีนป้องกันโรค
เมื่อวันที่ 4 เม.ย.63 นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรฯ เปิดเผยว่า ล่าสุดได้สั่งการให้ทางกรมปศุสัตว์ เร่งสรุปตัวเลขและสาเหตุการตายของม้าทั้งหมดให้เร็วที่สุด ซึ่งยอมรับว่าสถานการณ์ขณะนี้ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เนื่องจากมีทั้งม้าและม้าลายเสียชีวิตจำนวนมาก โดยขณะนี้ตนได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งกรมปศุสัตว์ กรมอุทยานฯให้เร่งสรุปหาสาเหตุที่แท้จริง เพื่อประชุมหารือ เพื่อวางมาตรการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นการเร่งด่วน โดยจะมีนัดหมายประชุมกันอีกครั้งในวันพุธที่8เมษายนนี้ เพื่อป้องกันการระบาดให้เร็วที่สุด
“ปัญหาการตายของโรคในม้าและม้าขณะนี้ค่อนข้างน่าเป็นห่วงมาก ตอนนี้ผมได้สั่งการไปแล้วให้กรมปศุสัตว์เร่งหาสาเหตุที่แท้จริงว่ามันคืออะไรกันแน่ เบื้องต้นบอกว่ามีแมลงเป็นพาหะนำโรคและเขายืนยันชัดเจนว่า ยังไม่ติดจากสัตว์สู่คน ผมได้ให้เฝ้าระวังเต็มที่โดยผมได้สั่งการให้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในวันพุธที่8เมษายนนี้หลังวันหยุดยาว ตอนนี้น่าเป็นห่วงทุกคน ต้องช่วยกันทั้งหมดโดยจะมีการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงทรัพยากรฯกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งกรมปศุสัตว์ต้องมาให้ข้อมูล กรมอุทยานฯที่ดูแลสัตว์ป่า ก็ต้องมาให้ข้อมูลต้องหารือกัน จะเอาอย่างไร ตอนนี้น่าเป็นห่วงเพราะเป็นโรคใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นต้องให้ความร่วมือต่อกันที่จะเร่งแก้ปัญหาให้จบ” นายประภัตรกล่าว
นายประภัตรบอกด้วยว่า ล่าสุดสำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ สรุปรายงานสถานการณ์โรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า ล่าสุดตาย154ตัว ป่วย10ตัว จากจำนวนม้าทั้งหมด835ตัว ฟาร์มเลี้ยงม้า32ราย ใน4จังหวัด คือ นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี เพชรบุรี
ทั้งนี้จ.นครราชสีมา ฟาร์มเลี้ยงม้า 3ราย พบว่าม้าป่วยมีจำนวนมากที่สุด 207ตัว และเมื่อวันที่2เม.ย.ยังมีการป่วยเพิ่ม22ตัว จำนวนตาย23ตัว
สำหรับจำนวนสะสม จ.นครราชสีมา ฟาร์มเลี้ยงม้า23ราย จำนวนทั้งหมด785ตัว จำนวนป่วย147ตัว จำนวนคงเหลือป่วย9ตัว จำนวนตาย138ตัว
จ.ประจวบคีรีขันธ์ ฟาร์มเลี้ยง7ราย จำนวนทั้งหมด15ตัว จำนวนป่วย10ตัว จำนวนตาย10ตาย
จ.ชลบุรี ฟาร์มเลี้ยง1ราย จำนวนทั้งหมด33ตัว จำนวนป่วย6ตัว จำนวนคงเหลือป่วย1ตัว จำนวนตาย5ตัว
จ.เพชรบุรี ฟาร์มเลี้ยง1ราย จำนวนทั้งหมด2ตัว จำนวนป่วย1ตัว จำนวนตาย1ตัว
ด้าน นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่าด้วยปัจจุบันเกิดการแพร่ระบาดของโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (Afican Horse Sickness) ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อในตระกูล ม้า ลา ล่อ ม้าลาย ได้เกิดการแพร่ระบาดของโรคฯ ดังกล่าว ที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส RNA ชนิดไม่มีเปลือกหุ้มชื่อ Reoviridae genus Orbivirus โดยทำให้ม้า ลา ล่อ ม้าลาย มักแสดงอาการมีไข้สูง มีอาการเกี่ยวกับระบบทางหายใจ แล้วตายโดยฉับพลัน ซึ่งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เป็นแบบที่เฉียบพลันรุนแรง โดยเชื้อไวรัสดังกล่าว ไม่ติดต่อจากสัตว์ สู่คน ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนกและไม่เกี่ยวข้องกับเชื้อไวรัสโคโรน่า2019ใดๆทั้งสิ้น
กรมปศุสัตว์ ได้บูรณาการทำงานกับทุกหน่วยงานภาคีเครือข่ายด้านโรคระบาดสัตว์ อาทิ ผู้แทนจากองค์การสวนสัตว์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช สมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย สมาคมม้าแห่งประเทศไทย นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ อาจารย์จากมหาวิทยาลัย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร เพื่อสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังโรคในม้า จากปัจจุบันเกิดการแพร่ระบาดของโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า
ทั้งนี้มาตรการในการควบคุมโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า สาระสำคัญ ดังนี้
1. มาตรการในการควบคุมโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าในประเทศไทย
2. ขอความร่วมมือในการเฝ้าระวังและควบคุมโรคจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
2.1 ข้อมูลประชากรม้าและสถานที่เลี้ยงม้าของแต่ละหน่วยงาน
2.2 ข้อมูลการนำเข้า-ส่งออก ม้า ลา ล่อ ม้าลาย อูฐ
2.3 การเฝ้าระวังโรคในสถานที่เลี้ยงของแต่หน่วยงาน
2.4 ข้อเสนอแนะ/ความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรการในการควบคุมโรค
กรณีพบสัตว์ป่วยตายผิดปกติขอให้ดำเนินการ ดังนี้
1. ทำบันทึกสั่งกักสัตว์ทั้งฟาร์ม/ฝูง โดยรีบประสานด่านกักสัตว์ควบคุมการเคลื่อนย้ายทันที
2. เก็บตัวอย่างเลือดส่งสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ
3. ให้คำแนะนำเจ้าของสัตว์ในการจัดการม้าป่วย ม้าร่วมฝูง งดการเคลื่อนย้ายม้า
4. รายงานการเกิดโรคผ่านระบบ e-smart surveillance
5. ประกาศเขตเฝ้าระวังโรคระบาดชั่วคราวชนิดกาฬโรคแอฟริกาในม้า ชนิดสัตว์ม้า ลา ล่อ อูฐ
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กำชับให้เจ้าของหมั่นสังเกตอาการม้าที่เลี้ยงอย่างใกล้ชิด ควบคุมการเคลื่อนย้าย หากพบม้าที่แสดงอาการผิดปกติให้รีบแจ้งสัตวแพทย์ ที่ปรึกษาฟาร์ม และแจ้งสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด หรือสำนักงานปศุสัตว์อำเภอ หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-2256888 หรือผ่านแอปพลิเคชั่น DLD 4.0 เพื่อดำเนินการตรวจสอบและควบคุมโรคอย่างเร่งด่วน ต่อไป
สำหรับโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (African Horse Sickness) สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส RNA ชนิดไม่มีเปลือกหุ้มชื่อ Reoviridae genus Orbivirus โดยก่อให้เกิดในม้า ลา ล่อ ม้าลาย อูฐ และสุนัข โดยมักทำให้ม้าและล่อแสดงอาการป่วยรุนแรงและตาย ส่วนในลาและม้าลายจะแสดงอาการแบบไม่รุนแรง โรคนี้ไม่ใช่ติดต่อจากสัตว์สู่คน ทางระบาดวิทยาพบรายงานการเกิดโรคในทวีปแอฟริกา ตะวันออกกลาง ประเทศอียิปต์ สเปน โปรตุเกส โมร็อกโค ปากีสถาน และอินเดียตั้งแต่ พ.ศ. 2548 – พ.ศ.2554 การที่มีม้าป่วยตายด้วยโรคนี้จึงเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในไทย
ซึ่งพาหะของโรคคือ แมลงดูดเลือดได้แก่ ริ้น เหลือบ เห็บ ยุง และแมลงวันดูดเลือด ระยะฟักตัวของโรคประมาณ 2 – 21 วัน อาการสัตว์ที่ติดเชื้อโรคกาฬโรคแอฟริกาจะแสดงอาการได้ 2 รูปแบบ คือ 1.แบบเฉียบพลันรุนแรง สัตว์จะมีไข้สูง หายใจลำบาก ไอ มีน้ำมูกเป็นฟองสีเหลืองขุ่น สัตว์จะตายภายใน 2 – 3 ชั่วโมง หลังจากแสดงอาการ แบบกึ่งเฉียบพลัน สัตว์จะมีไข้สูงประมาณ 3 – 6 วัน หลังจากนั้นไข้จะลดลง มีอาการบวมน้ำบริเวณขมับ เปลือก ตา แก้ม ริมฝีปาก ลิ้น บริเวณขากรรไกร คอ ไหล่ และหน้าอก มีจุดเลือดออกบริเวณลิ้นและเยื่อบุตา สัตว์จะตายจากภาวะหัวใจล้มเหลว หากสัตว์ที่ป่วยไม่รุนแรงมักหาย เป็นโรคที่มีวัคซีนป้องกัน