สภากาชาดยืนยัน การกักกันโรคที่มีประสิทธิภาพ จะยับยั้งโรคโควิด-19 สำเร็จ

สภากาชาดยืนยัน การกักกันโรคที่มีประสิทธิภาพ จะยับยั้งโรคโควิด-19 สำเร็จ

 

สภากาชาดไทยระบุ การยับยั้งโรคโควิด-19 จะประสบความสำเร็จ หากการกักกันโรคทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ชี้ผู้ยากไร้และผู้ด้อยโอกาสต้องการอาหารที่สามารถยังชีพได้ตลอด 14 วันเพื่อจะได้ไม่ออกจากที่พักอาศัย จึงปรับแผนปฏิบัติการ โดยประสานห้างแมคโครทุกสาขาทั่วประเทศ จัดส่งอาหารให้ผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ต้องกักกันตนภายใน 24 ชั่วโมง หลังจากได้รับแจ้งจากอสม.

นายแพทย์พิชิต ศิริวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า จำนวนผู้ป่วยและผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้นทั่วประเทศ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการให้กักกันตนเองในที่พักอาศัย 14 วัน ขณะนี้ได้รับรายงานจากเหล่ากาชาดจังหวัดและกิ่งกาชาดอำเภอทั้ง 76 จังหวัดว่า ผลการสำรวจความต้องการของผู้กักกันตนนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ อาหารที่จะสามารถยังชีพได้จนครบกำหนด จึงร่วมกับสำนักงานบริหารกิจการเหล่ากาชาดและสำนักงานจัดหารายได้จัดทำโครงการสนับสนุนชุดข้าว อาหาร และสิ่งจำเป็นแก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยง ล่าสุดได้ใช้กลไกอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เข้าสู่ระบบของสภากาชาดไทย โดยประสานกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพเพื่อนำรายชื่อและข้อมูลของแกนนำอสม. ทุกหมู่บ้านทั่วประเทศประมาณ 80,000 คน ให้สามารถใช้ผ่านแอพพลิเคชัน “พ้นภัย” ซึ่งได้สร้างปุ่มไว้เป็นพิเศษสำหรับอสม. กลุ่มนี้เพื่อแจ้งขอชุดยังชีพได้ โดยเหล่ากาชาดจังหวัดจะได้รับคำร้องทันที จากนั้นประสานหน่วยงานอื่นเพื่อคัดกรองไม่ให้มีการช่วยเหลือซ้ำซ้อนกัน แล้วส่งคำร้องมายังสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์เพื่อจัดส่งชุดยังชีพไปให้

นายแพทย์พิชิตกล่าวต่อว่า ระบบขนส่งชุดยังชีพจะใช้เวลาไม่เกิน 24 ชั่วโมง ส่วน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ส่งภายใน 48 ชั่วโมง ซึ่งทางห้างแมคโครจะจัดรถบรรทุกชุดอาหารยังชีพไปส่งให้สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดหรือจุดรับที่กำหนด ทั้งนี้สภากาชาดไทยประสงค์ช่วยเหลือผู้กักกันตนซึ่งเป็นผู้ยากไร้ รายได้ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ ผู้อายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไปและไม่มีบุคคลในครอบครัวช่วยเหลือดูแล ผู้ป่วยเรื้อรัง และผู้พิการเป็นสำคัญจึงให้ชุดปฏิบัติงานระดับหมู่บ้านของอำเภอต่างๆ ซึ่งมี อสม.ร่วมอยู่ด้วยจะเป็นผู้สำรวจความต้องการชุดอาหารของผู้ที่ต้องกักตนเองในที่พักเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 14 วันตามมาตรการกระทรวงสาธารณสุขในการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ซึ่งเหล่ากาชาดจังหวัดอาจนำไปมอบเองหรือส่งมอบให้หน่วยงานในพื้นที่ไปมอบให้ผู้กักกันตนถึงที่พัก ทั้งนี้สภากาชาดไทยเพิ่งได้รับแจ้งความต้องการ “ชุดธารน้ำใจกู้ชีวิตฝ่าวิกฤติโควิด-19” มาได้เพียง 3 วัน แต่สามารถส่งมอบแล้วใน 9 จังหวัดได้แก่ ลำพูน 427 ชุด บุรีรัมย์ 610 ชุด สกลนคร 3.239 ชุด เลย 125 ชุด สมุทรสาคร 152 ชุด ประจวบคีรีขันธ์ 400 ชุด พังงา 50 ชุด ตรัง 100 ชุด และยะลา 301 ชุด รวม 5,404 ชุด มูลค่า 3,512,600 บาท เชื่อว่า คำร้องขอจะเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วในไม่กี่วันนี้

สำหรับอุปกรณ์ทางการแพทย์ซึ่งต้องเตรียมพร้อมรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คือ เครื่องช่วยหายใจชนิดควบคุมปริมาตรและความดัน รวมถึงเครื่องส่องกล่องเสียงเพื่อทำให้การใส่ท่อช่วยหายใจทำได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งสำนักบริหารเหล่ากาชาดทำหนังสือแจ้งนายกเหล่ากาชาดจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดว่า ให้สามารถใช้เงินประมาณประจำปีและหรือเงินสะสมเหล่ากาชาดจังหวัดไปสนับสนุนโรงพยาบาลและหรือสถานพยาบาลที่ขาดแคลนแล้ว แต่จากสถานการณ์ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน ความต้องการอุปกรณ์จึงมีมากขึ้น จึงขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนโครงการจัดหาข้าวและอาหารแก่ผู้เสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ที่อยู่ระหว่างกักกันตนเอง รวมทั้งโครงการจัดซื้อเครื่องช่วยหายใจและเครื่องส่องกล่องเสียงเพื่อใส่ช่วยท่อหายใจ ผ่านสำนักงานจัดหารายได้ สภากาชาดไทยที่บัญชี ธนาคารกสิกรไทย สาขา สำนักสีลม ชื่อบัญชี “สภากาชาดไทยเพื่อภัยพิบัติ” ประเภทบัญชีกระแสรายวัน เลขที่ 001-1-34567-0

 

You May Have Missed!

1 Minute
กิจกรรมเพื่อสังคม
ไม่สนคำ ว่าทำบุญเอาหน้า…เสี่ยเดย์ นักบุญเจ้าเดิมช่วยการศึกษาอีกกว่า 3 ล้าน
0 Minutes
โรงพยาบาล
โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร จัดงานวันสถาปนาครบรอบ 53 ปี ชูแนวคิด ทุ่มเทอย่างชาญฉลาด เพื่อสร้างประสบการณ์สุขภาพที่เหนือชั้น เดินหน้าพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี เพิ่มการยอมรับและมั่นใจกับผู้มารับบริการ
0 Minutes
โรงพยาบาล
สำนักงานเลขานุการ (กลุ่มงานนิติการ) สำนักการแพทย์ ประชุมคณะทำงานพิจารณาปรับปรุงแก้ไขระเบียบกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวกับเงินนอกงบประมาณ ครั้งที่ 3/2567
1 Minute
ข่าวประชาสัมพันธ์
วว. ผนึกกำลัง KUST ประเทศจีน จัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีนานาชาติ มุ่งใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม จัดการความท้าทายด้านภัยพิบัติ/เหตุฉุกเฉิน