“เฉลิมชัย” ประกาศ ปฏิรูปภาคการเกษตรไทย เริ่มต้นปี 63 ทันที นำเทคโนโลยีมาส่งเสริมการผลิต การแปรรูปสินค้าเกษตร และถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกร
ลั่นขับเคลื่อนเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ ลด ละ เลิกใช้สารเคมี ขยายช่องทางจำหน่าย นำสู่ตลาดออนไลน์และส่งตรงถึงผู้บริโภค
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในปี 2563 จะเร่งปฏิรูปภาคการเกษตรของไทยอย่างครบวงจร มีนโยบายหลักคือ การตลาดนำการผลิต โดยผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาดเพื่อแก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาดและราคาตกต่ำ ประกอบกับหาตลาดใหม่ๆ และช่องทางการจำหน่ายที่ทันสมัย โดยเฉพาะทางออนไลน์ซึ่งล่าสุดจับมือกับลาซาด้านำสินค้าเกษตรขายผ่านเว็บไซต์ อีกทั้งประสานกับบริษัทไปรษณีย์ไทย บริษัทขนส่งเอกชน และบริษัทการบินไทย เพื่อให้ขนส่งถึงผู้บริโภคได้รวดเร็วและรักษาคุณภาพของสินค้าตลอดการขนส่งซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2563 ทันที
สำหรับพื้นฐานที่สำคัญของการปฏิรูปภาคการเกษตรคือ การรวบรวมข้อมูลและการให้บริการข้อมูลแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเกษตรกรซึ่งล่าสุดได้ประสานกับ 10 องค์กรจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรในระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยจะจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีทางการเกษตรจะทั้ง 77 จังหวัดให้เกษตรกรเข้าถึงข้อมูลได้สะดวก สนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุมเป็นสหกรณ์ เกษตรแปลงใหญ่ วิสาหกิจชุมชน ที่สำคัญคือ การส่งเสริมคนรุ่นใหม่ที่สนใจทำการเกษตรเพื่อพัฒนาเป็น Young Smart Famer สืบสานการทำเกษตรกรรมจากพ่อแม่และนำองค์ความรู้ที่ทันสมัย โดยเฉพาะการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่ามาพัฒนาให้มีรายได้และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
นายเฉลิมชัยกล่าวต่อว่า ต้องพัฒนาการผลิต ตั้งแต่คุณภาพของเมล็ดพันธุ์และต้นพันธุ์ที่ให้คุณภาพดี ผลผลิตต่อไร่สูง ตลอดจนทนทานต่อโรคและแมลง นำเทคโนโลยีและเครื่องจักรกลการเกษตรใหม่ๆ มาใช้อย่างจริงจังได้แก่ การทำเกษตรให้เหมาะสมกับพื้นที่ (Agri-Map) ซึ่งนำไปสู่การกำหนดพื้นที่ทำการเกษตร (Zoning) การลดต้นทุนการผลิต รวมถึงการใช้ปุ๋ยให้เหมาะสมกับความต้องการของพืชและสภาพดินซึ่งดำเนินเป็นโครงการปุ๋ยสั่งตัดที่สามารถลดต้นทุนได้ถึงร้อยละ 30 หากเกษตรกรประสงค์ใช้ปุ๋ยอินทรีย์จะมีเจ้าหน้าที่ให้ความรู้ สำหรับการป้องกันกำจัดวัชพืชและศัตรูพืชนั้นมีนโยบายลด ละ เลิกใช้สารเคมี โดยเร่งวิจัยและพัฒนาสารชีวภัณฑ์เพื่อทดแทน เป็นไปตามเป้าหมายให้ไทยเป็นครัวของโลกซึ่งต้องผลิตอาหารปลอดภัยตามมาตรฐาน GAP และเกษตรอินทรีย์ โดยจะนำศาสตร์พระราชาและทฤษฎีใหม่มาเป็นพื้นฐานในการขับเคลื่อน
ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญในการทำเกษตรคือ น้ำ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทานวางนโยบายการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ เพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำทั้งขนาดใหญ่ กลาง และเล็กเพื่อป้องกันภาวะน้ำหลากและเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง สำหรับความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้ภัยแล้งเกิดถี่ขึ้นจะแก้ไขโดยทำโครงการระยะยาวเพื่อเติมน้ำในแหล่งเก็บกักน้ำสำคัญและการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำโดยเฉพาะลุ่มเจ้าพระยาซึ่งมีการใช้น้ำเพิ่มขึ้น มีโครงการเพิ่มปริมาณการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาสู่ลุ่มเจ้าพระยาจากปีละ 800 ล้านลบ.ม. เป็น 2,000 ล้านลบ.ม.
นายเฉลิมชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีหน้าจะเร่งแก้ไขปัญหาภาคการประมงต่อเนื่องจากปีนี้ ล่าสุดได้ให้กรมประมงจัดระเบียบเรือประมงพื้นบ้าน โดยให้จดทะเบียนอย่างถูกต้อง ดำเนินการแล้วกว่า 50,000 ลำ ส่วนเรือประมงพาณิชย์ซึ่งขอทำประมงได้ตลอดทั้งปีนั้น ในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ เรืออวนลากสามารถทำประมงเพิ่มได้ 30 วัน ส่วนเรืออื่นๆ ในปี 2563 สามารถทำประมงได้ทั้งปี โดยกรมประมงได้พิจารณาถึงความสมดุลของทรัพยากรสัตว์น้ำแล้ว
ส่วนในฤดูแล้งนี้ หลายพื้นที่เพาะปลูกไม่ได้ทั้งข้าวนาปรังและพืชอื่นๆ ได้มอบหมายกรมชลประทานจัดทำโครงการว่าจ้างแรงงานซึ่งกำหนดกรอบงบประมาณแล้วเพื่อให้เกษตรกรที่ร่วมโครงการมีรายได้ต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังให้กรมประมงนำพันธุ์สัตว์น้ำไปปล่อยในแหล่งน้ำต่างๆ 550 ล้านตัว จับมาบริโภคและจำหน่ายได้ใน 4 เดือนซึ่งจะบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรได้ ทั้งนี้จะให้กรมต่างๆ มาชี้แจงแผนปฏิบัติการปฏิรูปภาคการเกษตรโดยละเอียดในวันที่ 3 มกราคม 2563