กรมชลฯเปิดศูนย์เฉพาะกิจแก้ภัยแล้ง ยังแล้งอีกยาวกว่า4เดือน ปล่อยคาราวานเครื่องจักรกลช่วยเหลือประชาชนประสบภัยทันท่วงที วอนประคองใช้น้ำประหยัด

กรมชลฯเปิดศูนย์เฉพาะกิจแก้ภัยแล้ง ยังแล้งอีกยาวกว่า4เดือน ปล่อยคาราวานเครื่องจักรกลช่วยเหลือประชาชนประสบภัยทันท่วงที วอนประคองใช้น้ำประหยัด

 

เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.62  นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่าจะจัดแถลงข่าวจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขและบรรเทาวิกฤติภัยแล้งปี 2562/63 และปล่อยคาราวานเครื่องจักรกลช่วยภัยแล้ง เพื่อช่วยเหลือประชาชนได้ท่วงที ในวันศุกร์ ที่ 27 ธ.ค. 62 เวลา 13.30น.กรมชลประทาน สามเสน

“ปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศอยู่ในเกณฑ์น้อย อีกทั้ง ช่วงฤดูแล้งยังเหลือระยะเวลาอีกกว่า 4 เดือน กรมชลประทาน จึงต้องจัดสรรน้ำตามแผนฯอย่างเคร่งครัดและจริงจัง เพราะหากไม่ดำเนินการตามแผนฯอาจทำให้เสี่ยงปริมาณน้ำมีไม่เพียงพอต่อกิจกรรมการใช้น้ำที่จำเป็นได้ โดยขอให้ทุกภาคส่วนปฏิบัติตามและใช้น้ำอย่างประหยัด”นายทองเปลว กล่าว

ด้านนายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่าสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่  ทั่วประเทศ ปัจจุบัน(26 ธ.ค. 62) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 47,458 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล้าน ลบ.ม.) หรือคิดเป็นร้อยละ 62 ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 23,612 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 11,187 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล้าน ลบ.ม.) หรือคิดเป็นร้อยละ 45 ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 4,491 ล้าน ลบ.ม. วางแผนส่งน้ำเฉพาะสนับสนุนการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และไม้ผลไม้ยืนต้น เท่านั้น
สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำเก็บกักอยู่ในเกณฑ์ระหว่างร้อยละ 31 – 50 ของความจุอ่างฯ ปัจจุบันมีจำนวน 10 แห่ง ได้แก่ เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก, เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จังหวัดพิษณุโลก, เขื่อนแม่มอก จังหวัดลำปาง, เขื่อนห้วยหลวง จังหวัดอุดรธานี, เขื่อนลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา, เขื่อนมูลบน จังหวัดนครราชสีมา, เขื่อนลำแซะ จังหวัดนครราชสีมา, เขื่อนบางพระ จังหวัดชลบุรี, เขื่อนหนองปลาไหล จังหวัดระยอง และเขื่อนประแสร์ จังหวัดระยอง สามารถสนับสนุนได้เฉพาะการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และการปลูกพืชใช้น้ำน้อย เท่านั้น


ส่วนอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ มีจำนวน 9 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแม่กวง-อุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ มีปริมาณน้ำ 74 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 28 ของความจุอ่างฯ น้ำใช้การได้ 60 ล้าน ลบ.ม. , เขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ มีปริมาณน้ำ 45 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 27 ของความจุอ่างฯ น้ำใช้การได้ 8 ล้าน ลบ.ม. , เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น มีปริมาณน้ำ 502 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 21 ของความจุอ่างฯ , เขื่อนลำพระเพลิง จังหวัดนครราชสีมา มีปริมาณน้ำ 23 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 15 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ 21 ล้าน ลบ.ม. , เขื่อนลำนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ มีปริมาณน้ำ 23 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 19 ของความจุอ่างฯ น้ำใช้การได้ 20 ล้าน ลบ.ม. , เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี มีปริมาณน้ำ 241 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 25 ของความจุอ่างฯ น้ำใช้การได้ 38 ล้าน ลบ.ม. , เขื่อนทับเสลา จังหวัดอุทัยธานี มีปริมาณน้ำ 37 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 23 ของความจุอ่างฯ น้ำใช้การได้ 20 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนกระเสียว จังหวัดสุพรรณบุรี มีปริมาณน้ำ 61 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 21 ของความจุอ่างฯ น้ำใช้การได้ 21 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนสียัด จังหวัดฉะเชิงเทรา ปริมาณน้ำ 110 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 26 ของความจุอ่างฯ น้ำใช้การได้ 80 ล้าน ลบ.ม. ทั้งหมดสามารถสนับสนุนการใช้น้ำเฉพาะการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น

ทั้งนี้ จากสถานการณ์น้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ที่อยู่ในเกณฑ์น้อยดังกล่าวข้างต้น กรมชลประทาน จำเป็นต้องตามแผนการจัดสรรน้ำอย่างเข้มงวด พร้อมกับให้เจ้าหน้าที่แต่ละโครงการชลประทานร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น ลงพื้นที่ไปสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูแล้งนี้ให้กับประชาชนให้มากที่สุด จึงขอทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำตามแผนอย่างเคร่งครัดและอย่างประหยัดมากที่สุด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอใช้ตลอดช่วงฤดูแล้งนี้