เกษตรฯเตรียมเสนอโครงการสินเชื่อชะลอการขายเกลือทะเล วงเงิน 3,000 ล้านบาทให้ครม.พิจารณาเพื่อแก้ปัญหาเกลือล้นตลาด ส่งผลให้ราคาเกลือตกต่ำ
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานประชุม คณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย ครั้งที่ 4 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่ากสรประชุมดังเพื่อแก้ปัญหาราคาเกลือตกต่ำเนื่องจากปัญหาด้านประมงทำให้ความต้องการใช้เกลือทะเลลดลง การนำเข้าเกลือทะเลมีราคาต่ำกว่าราคาจำหน่าย รวมถึงประกาศกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับการกำหนดปริมาณไอโอดีนในเกลือบริโภคให้ทำผลผลิตเกลือทะเลตกค้าง โดยฤดูกาลผลิต 2561/62 ตกค้างในยุ้งเกษตรกร 15,783 เกวียนและจะมีผลผลิตปี 2562/63 อีก 620,000 เกวียน เกินความต้องการตลาดส่งผลให้ราคาตกต่ำขณะนี้ราคาเกลือที่เกษตรกรขายได้อยู่ที่กิโลกรัมละ 80 สตางค์ ต่ำกว่าทุนที่กิโลกรัมละ 1 บาท 50 สตางค์
เบื้องต้นได้เห็นชอบโครงการสินเชื่อชะลอการขายเกลือทะเล ปีการผลิต 2563/2564 วงเงิน 3,000 ล้านบาท โดยจะเสนอให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาในเดือนมกราคมปีหน้า วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ร้อยละ 0.01 ต่อปีเพื่อให้เกษตรกรสามารถชะลอการขายเกลือในช่วงที่ปริมาณมากเกินความต้องการ เพื่อทำให้ราคาเกลือสูงขึ้นบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรนาเกลือ
กำหนดพื้นที่เป้าหมาย 7 จังหวัด คือ เพชรบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ชลบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา และปัตตานี มีพื้นที่ทำนาเกลือประมาณ 78,289 ไร่ และกำหนดวงเงินสินเชื่อและการกำหนดราคาเกลือทะเลในการจ่ายเงินกู้ ในอัตราร้อยละ 80 ของราคาที่กำหนดประเภทเกลือคุณภาพปานกลาง ในอัตรา 937.50 บาทต่อตัน ระยะเวลาการจัดทำสัญญาเงินกู้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ถึง 31 พฤษภาคม 2563
นอกจากนั้น ยังได้ขอความร่วมมือจากสถานประกอบการ ภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร ในการเร่งระบายผลผลิตเกลือทะเล ระหว่างชุมนุมสหกรณ์การเกษตรเกลือทะเลไทย กับ สหกรณ์การเกษตรผู้ปลูกมะนาวแพ้วดาเนิน จำกัด สหกรณ์ปศุสัตว์และสัตว์น้ำฉะเชิงเทรา จำกัด สหกรณ์การเกษตรด่านขุนทด จำกัด สหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งนครปฐม จำกัดและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
สำหรับผลผลิตเกลือทั้งประเทศ มีปริมาณเฉลี่ย 992,000 ตัน ขณะที่ความต้องการอยู่ที่ 9 แสนตันในจำนวนนี้ ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ร้อยละ 30.50/ประมง ร้อยละ19.50/โรงงานดองผัก ร้อยละ 20.7/อื่นๆ ร้อยละ 19.30/ผู้บริโภคร้อยละ 7.10 และอื่นๆร้อยละ 2.9