“รมช. มนัญญา” ไม่สนฉายา “มาดามแบนเก้อ” ย้ำทุ่มเททำงานได้ผล เร่งเครื่องออกประกาศกระทรวงเกษตรฯ ควบคุมการผลิตและบรรจุสารเคมีทางการเกษตร ป้องกันเล่ห์ลวงผู้ประกอบการ ผสมเจือจางหรือเติมสารอื่น หวั่นกรรมตกแก่เกษตรกรและผู้บริโภค

“รมช. มนัญญา” ไม่สนฉายา “มาดามแบนเก้อ” ย้ำทุ่มเททำงานได้ผล เร่งเครื่องออกประกาศกระทรวงเกษตรฯ ควบคุมการผลิตและบรรจุสารเคมีทางการเกษตร

ป้องกันเล่ห์ลวงผู้ประกอบการ ผสมเจือจางหรือเติมสารอื่น หวั่นกรรมตกแก่เกษตรกรและผู้บริโภค

 

 

น.ส. มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า รู้สึกขำฉายา “มาดามแบนเก้อ” ที่ผู้สื่อข่าวทำเนียบรัฐบาลตั้ง ที่ผ่านมาตั้งใจแบนสารเคมีอันตรายทางการเกษตรเต็มที่ซึ่งไม่ใช่แบนไม่ได้ แต่ตามกระบวนการที่เกิดขึ้นทำให้การแบนต้องเลื่อนไปจากความตั้งใจเดิมออกไป 6 เดือน ล่าสุดสั่งการอธิบดีกรมวิชาการเกษตรให้ยกร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 3 ฉบับเพี่อรองรับมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อ 27 พ.ย. 2562 ควบคุมโรงงานผลิตและบรรจุทางการเกษตร โดยนำมาตรฐาน ISO มากำกับเพื่อให้มีคุณภาพ แก้ปัญหาการผสมที่เจือจางหรือผสมสารปรุงแต่งที่ไม่เป็นไปตามทะเบียน รวมทั้งตรวจสอบย้อนกลับได้ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรไม่ถูกหลอกขายสารเคมีคุณภาพต่ำ รวมทั้งเกิดความปลอดภัยทั้งต่อผู้ใช้ ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกอบด้วย เรื่อง กำหนดให้โรงงานที่จะผลิตสารเคมีทางการเกษตร ต้องมีมาตรฐาน ISO 9001 มีการจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐาน ISO 14001 โรงงานผลิตวัตถุอันตรายต้องมี ISO / IEC 170025 ซึ่งกำหนดให้ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์สำหรับวิเคราะห์ทดสอบสารเคมีเป็นไปตามมาตรฐานสากล ขณะนี้อธิบดีกรมวิชาการเกษตรอยู่ระหว่างยกประกาศกระทรวงเกษตรฯ ใหม่ 3 ฉบับซึ่งคาดว่า จะต้องนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายรับทราบ จากนั้นจึงจะเสนอให้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงนาม

น.ส. มนัญญากล่าวต่อว่า ขณะนี้ไม่ได้อนุญาตให้นำเข้าพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสแล้วเพื่อให้ภาคเอกชนจัดการสต๊อกที่มีอยู่ในประเทศ ก่อนที่การแบนจะมีผลในวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ส่วนไกลโฟเซตซึ่งคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติจำกัดการใช้ ที่ผ่านมาได้ระงับการนำเข้าชั่วคราว แต่จากนี้ไปต้องควบคุมปริมาณการนำเข้าให้สอดคล้องกับการใช้ตามมาตรการจำกัดการใช้ ดังนั้นปริมาณการนำเข้าต้องลดลง นอกจากนี้ได้ตั้งคณะกรรมการที่ประกอบด้วย หน่วยราชการ เอกชน ผู้ผลิต นำเข้า จำหน่าย ผู้ทรงวุฒิร่วมศึกษาว่า สารเคมีทางการเกษตรที่มีกว่า 300 ชนิดซึ่งอนุญาต ให้ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้น มีชนิดใดที่ควรยกเลิกหรือจำกัดการใช้ โดยพิจารณาให้แล้วเสร็จในเวลา 90วัน หากพบว่า สารใดมีอันตรายจะยกเลิกต่อไป