“อธิบดีกรมชลฯ” สั่งเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำทั่วประเทศ เหลือน้ำใช้ 13,129 ล้านลบ.ม. เตรียมพร้อมให้การช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน จากสภาพอากาศแห้งแล้งมาเร็ว ปริมาณน้ำต้นทุนลด เร่งทำความเข้าใจทุกพื้นที่ประหยัดน้ำใช้ผ่านวิกฤติแล้งไปให้ได้ 

“อธิบดีกรมชลฯ” สั่งเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำทั่วประเทศ เหลือน้ำใช้ 13,129 ล้านลบ.ม. เตรียมพร้อมให้การช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน จากสภาพอากาศแห้งแล้งมาเร็ว ปริมาณน้ำต้นทุนลด

เร่งทำความเข้าใจทุกพื้นที่ประหยัดน้ำใช้ผ่านวิกฤติแล้งไปให้ได้ 

 

เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.62 นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่าสภาพอากาศที่แห้งแล้งที่มาเร็ว ปริมาณน้ำต้นทุนลดลงในปัจจุบันส่งผลให้ประชาชนในหลายพื้นที่ได้รับความเดือดร้อน รัฐบาล โดย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนทุกพื้นที่ จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้ความช่วยเหลือ และวางแผนรับมือภัยแล้งในอนาคต ได้สั่งการให้โครงการชลประทานทุกพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ และเตรียมพร้อมให้การช่วยเหลือประชาชน ที่ได้รับผลกระทบร่วมทั้งวางแนวทางพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อรองรับการขยายตัวของสังคม เพื่อให้มีน้ำเพียงพอในอนาคต

สำหรับการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2562/2563 กรมชลประทาน วางแผนการใช้น้ำจากโครงการชลประทานขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศในช่วงฤดูแล้งปี 2562/2563 (วันที่1 พฤศจิกายน 2562-30 เมษายน 2563) ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 ปริมาตรน้ำต้นทุนสามารถใช้การ ได้จํานวน 26,666 ล้าน ลบ.ม. โดยวางแผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศจํานวน 17,699 ล้าน ลบ.ม. ตามลําดับความสําคัญดังนี้ เพื่อการอุปโภค-บริโภค 2,300 ล้าน ลบ.ม. รักษาระบบนิเวศน์และอื่นๆ 6,999 ล้าน ลบ.ม. ภาคเกษตรกรรม 7,881 ล้าน ลบ.ม. งดส่งน้ำนาปรัง 22จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา ภาคอีสานตอนกลางและตอนล่าง ส่วนภาคอุตสาหกรรม 519 ล้าน ลบ.ม. โดยจัดสรรน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4,000 ล้าน ลบ.ม. (เขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ 3,000 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบํารุงแดน 250 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนป่าสัก 250 ล้าน ลบ.ม. และลุ่มน้ำแม่กลอง 500 ล้าน ลบ.ม.) แยกเป็น เพื่อการอุปโภค-บริโภค 1,150 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการรักษาระบบนิเวศน์และอื่นๆ 2,335 ล้าน ลบ.ม. และเพื่อการเกษตร 515 ล้าน ลบ.ม.พืชใช้น้ำน้อย

ผลการจัดสรรน้ำ (อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง) ทั้งประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 ถึงปัจจุบัน ใช้น้ำไปแล้ว 4,570 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 26 ของแผนจัดสรรน้ำ ส่วนในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ ป่าสักฯ ) วันนี้ใช้น้ำไป 18.15 ล้าน ลบ.ม. ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 ถึงปัจจุบัน ใช้น้ำไปแล้ว 1,316.66 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 33 ของแผนจัดสรรน้ำ

สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง 477แห่งทั่วประเทศ มีปริมาตรน้ำในอ่างฯ 47,773 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 63 เป็นปริมาตรน้ำใช้การได้ 23,920 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 46 ปริมาตรน้ำในอ่างฯ เทียบกับปี 2561 มี 58,702 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 77 น้อยกว่าปี 2561 จํานวน 10,929 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ 24.18 ล้าน ลบ.ม.ปริมาณน้ำ ระบายน้ำจํานวน 73.86 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน สามารถรับน้ำได้อีก 28,294 ล้าน ลบ.ม.

ด้านนายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่าปัจจุบัน (21 ธ.ค. 62) สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น อ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ มีปริมาณน้ำ 507 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 20.86 ของปริมาณความจุอ่าง ซึ่งขณะนี้ได้นำน้ำก้นอ่างมาใช้แล้วประมาณ 74 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น  ในส่วนความช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาการขาดแคลนน้ำ กรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 6 สนับสนุนเครื่องสูบน้ำช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร และส่งน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคให้แก่พื้นที่รับน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ได้แก่จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดมหาสารคาม ตั้งแต่ช่วงต้นฤดูแล้งปี 2562 ที่ผ่านมา จำนวน 49 เครื่อง ปัจจุบันสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย และมีบางพื้นที่เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว จึงยังคงเครื่องสูบน้ำไว้ช่วยเหลือเฉพาะการอุปโภคบริโภค 6 เครื่อง

ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ทุกระดับลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ ชี้แจงสถานการณ์น้ำให้ประชาชน และเกษตรกรในพื้นที่ได้รับทราบอย่างทั่วถึง พร้อมกับรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด โดยเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. ที่ผ่านมา สำนักงานชลประทานที่ 6 เข้าร่วมประชุมสานเสวนาเครือข่ายผู้ใช้น้ำเขื่อนอุบลรัตน์ เหนือน้ำ-ท้ายน้ำ เพื่อรายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมในลุ่มน้ำชี แผน-ผลการใช้น้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้สถานการณ์น้ำและมาตรการให้ความช่วยเหลือภัยแล้งสร้างการมีส่วนร่วมให้ตระหนักและรับรู้การใช้น้ำให้ประหยัดและรู้คุณค่า

สำหรับในพื้นที่เหนือเขื่อนอุบลรัตน์ สำนักงานชลประทานที่ 6 ร่วมกับ โครงการชลประทานหนองบัวลำภู สำนักงานชลประทานที่ 5 จัดการประชุมร่วมกับเทศบาลตำบลบ้านค้อ อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู เพื่อประชาสัมพันธ์และชี้แจงให้ประชาชนและเกษตรกรผู้ใช้น้ำบริเวณเหนือเขื่อนอุบลรัตน์ ได้รับทราบถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ รวมทั้งขอความร่วมมือจากสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่ตั้งอยู่บริเวณรอบๆ อ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ไม่เดินเครื่องสูบน้ำเพื่อการเกษตร เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณน้อย จึงต้องสงวนไว้ใช้สำหรับการอุปโภค-บริโภค และการรักษาระบบนิเวศ ไปจนถึงฤดูฝน ปี 2563

ด้านจังหวัดมหาสารคาม โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเสียวใหญ่ ได้นำรถติดป้ายประชาสัมพันธ์และเครื่องกระจายเสียง ออกวิ่งประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ ขอความร่วมมือให้เกษตรกรใช้น้ำอย่างประหยัด นอกจากนี้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย ร่วมกับชาวบ้านและผู้นำชุมชน ลงพื้นที่หาแนวทางพัฒนาแหล่งน้ำอุปโภค-บริโภค ในพื้นที่บ้านเหล่าบัวบ้าน หมู่ 4 ตำบลเหล่าบัวบาน อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม ที่ประสบปัญหาน้ำต้นทุนในการผลิตน้ำประปาไม่เพียงพอ  พร้อมชี้แจงสถานการณ์น้ำและรณรงค์ให้ใช้น้ำอย่างประหยัด

ทั้งนี้ สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้สั่งการให้โครงการชลประทานทั้ง 5 จังหวัดเฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด รวมถึงการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงสถานการณ์น้ำ พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรน้ำ ใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า