อ.ส.ค. หนุนเด็กรุ่นใหม่สานต่ออาชีพการเลี้ยงโคนมจากรุ่น – สู่รุ่น
มุ่งหวังสืบสานพระราชปณิธาน “โคนมอาชีพพระราชทาน”
ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ที่นำมาใช้เป็นแนวทางในการสืบทอดองค์ความรู้และสร้างความสุขให้แก่เกษตรกรโคนมไทยขององค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) คือการมุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงโคนมดำรงชีพอย่างมั่นคงและยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมให้คนไทยได้มีโอกาสศึกษาเรียนรู้อุตสาหกรรมโคนมแบบครบวงจร เกษตรกรเกิดการพัฒนา คนไทยเกิดความรัก ความหวงแหน ความมีส่วนร่วมในการดำรงไว้ซึ่งอุตสาหกรรมโคนมแบบครบวงจรให้คงอยู่คู่ประเทศไทยสืบไป ตลอดจนผลักดันให้“ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค” เป็นแหล่งเรียนรู้และที่พึ่งทางวิชาการด้าน “อุตสาหกรรมโคนมครบวงจร” สำหรับเกษตรกรโคนมไทยและคนไทยทั้งประเทศ เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ผู้พระราชทานอาชีพการเลี้ยงโคนมให้กับพสกนิกรชาวไทย
ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา อ.ส.ค. ได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาโคนมอาชีพพระราชทานมาอย่างต่อเนื่อง และเมื่อปี พ.ศ. 2558 ได้มีการส่งเสริม สนับสนุนให้มีการสานต่ออาชีพการเลี้ยงโคนมจากรุ่นสู่รุ่น โดยการสร้างเยาวชนให้มีความสนใจและภาคภูมิใจในอาชีพการเลี้ยงโคนมซึ่งเป็นอาชีพพระราชทานและสามารถนำไปขยายผลในชุมชน ด้วยการจัดตั้งฟาร์มโคนมขนาดเล็ก ขึ้นในโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี นำร่องเป็นโรงเรียนแรก ภายใต้โครงการศูนย์การเรียนรู้และถ่ายทอดการศึกษาการเลี้ยงโคนมในโรงเรียน โดยบูรณาการความรวมมือระหว่าง อ.ส.ค. ปศุสัตว์และหน่วยงานในพื้นที่เพื่อให้เด็กรุ่นหลังได้รับการเรียน การสอน และการปลูกฝังอาชีพการเลี้ยงโคนมจากโรงเรียน จากนั้นในปี ๒๕๖๒ อ.ส.ค. ได้เปิดหลักสูตร“ห้องเรียนศาสตร์พระราชา” โดยมีวิชาหลักคือวิชาการผลิตโคนม โดยมอบโคนมทั้งที่เป็นแม่โคและลูกโคให้แก่โรงเรียน
นอกจากนี้ ที่ผ่านมา อ.ส.ค. ยังได้จัดทำโปรแกรมการส่งเสริมฟาร์มตามความต้องการเฉพาะนำเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการบริหารจัดการฟาร์ม การเสริมพลังเครือข่ายคนเลี้ยงโคนม การพัฒนาอุตสาหกรรมนมแบบครบวงจรตามมาตรฐานสากลเป็นมิตรแก่สิ่งแวดล้อม การสร้างแหล่งความรู้ด้านกิจการโคนมและอุตสาหกรรมนม การมุ่งบริหารจัดการองค์กรให้เป็นองค์กรที่มีขีดสมรรถนะสูง(High Performance Organization:HPO) ด้วยหลักธรรมาภิบาล การสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดน้ำนมดิบ การเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ การพัฒนาและส่งเสริมการเลี้ยงโคนมอยางมีประสิทธิภาพและได้มาตรฐาน และพัฒนาผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์คให้ได้ตามมาตรฐานสากล รวมทั้งขับเคลื่อนงานสถาบันการวิจัย พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมโคนมแห่งชาติและการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล โดยการรวบรวมข้อมูลขนาดใหญ่มาประมูล วิเคราะห์ และนำไปใช้ประโยชน์ (Big Data)
ดร.ณรงค์ฤทธิ์ กล่าวอีกว่า แนวทางขับเคลื่อนเพื่อ สืบสาน รักษา ต่อยอด ในปี 2562 อ.ส.ค.ได้ดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพโครงการและพัฒนาวิธีการให้ทันสมัยแตกต่างจากรูปแบบเดิม เช่น การถ่ายทอดให้ความรู้โดยการนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการฟาร์ม การดูแลสุขภาพให้ความรู้ใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง โดยให้ชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงได้เข้ามาศึกษาและเรียนรู้การเลี้ยงโคนมมากยิ่งขึ้น เพื่อปลูกฝังโคนมอาชีพพระราชทานแก่เด็กและเยาวชนนำไปสืบสาน ต่อยอดตามพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ให้เป็นอาชีพที่มั่นคง ยั่งยืนของไทยตลอดไป รวมทั้งได้จัดทำโครงการได้รับการรับรองมาตรฐานฟาร์มโคนม (Good Agricultural Practices:GAP) ของฟาร์มเกษตร รวมทั้งได้ผลักดันโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตฟาร์มเกษตรกรโดยใช้ฐานข้อมูลโคนมของ อ.ส.ค. โดยมีเป้าหมายเพิ่มประสิทธิภาพในการเลี้ยงโคนมของเกษตรกร เพิ่มจำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและปริมาณน้ำนมดิบของโคตลอดจนมีเครือข่ายผู้ส่งน้ำนมดิบให้แก่ อ.ส.ค. มากขึ้น
ทั้งนี้ อ.ส.ค. ยังได้ให้ความสำคัญในการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาใช้เป็นกรอบการดำเนินงานและกำหนดยุทธศาสตร์องค์กร โดยมุ่งยกระดับให้อาชีพการเลี้ยงโคนมเป็นอาชีพที่มีความมั่นคง ยั่งยืน ตลอดจนส่งเสริมธุรกิจอุตสาหกรรมโคนมในประเทศ ให้สามารถปรับตัวเป็นอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนได้ ตลอดจนส่งเสริมให้คนไทยได้มีโอกาสศึกษาเรียนรู้อุตสาหกรรมโคนมครบวงจร เกษตรกรเกิดการพัฒนา คนไทยเกิดความรัก ความหวงแหน ความมีส่วนร่วม ในการดำรงไว้ซึ่งอุตสาหกรรมโคนมครบวงจรด้วยเกษตรกรไทย ให้คงอยู่คู่ประเทศไทยสืบไป ตลอดจนผลักดันให้ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์คเป็นแหล่งเรียนรู้และที่พึ่งทางวิชาการด้านอุตสาหกรรมโคนมครบวงจรสำหรับเกษตรกรโคนมไทยและคนไทยทั้งประเทศ