“รมช.ประภัตร” ผุดไอเดียพลิกฟื้นอุตสาหกรรมควายไทย สร้างรายได้ให้เกษตรกร
วันนี้ 14 ธ.ค. 62 นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงานของ สอนศิริฟาร์มควายไทย ตำบลบ้านยาง อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี โดยมี นายพจน์ แววสิงห์งาม รองผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี , นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรฯ , นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ , นายวรากร จิตรหลัง ปศุสัตว์จังหวัดปราจีนบุรี พร้อมด้วยข้าราชการในสังกัด และนายพรหมพิริยะ สอนศิริ เจ้าของสอนศิริ ฟาร์มควายไทย ให้การต้อนรับ
ทั้งนี้นายประภัตร กล่าวว่า ควายไทยถือเป็นเอกลักษณ์ของชาติ ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสนใจและเห็นความสำคัญในอาชีพการเลี้ยงควายของเกษตรกรทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันควายไทยได้รับการพัฒนาทำให้มีขนาดและน้ำหนักมากขึ้นจากเดิม รวมทั้งสามารถคงเอกลักษณ์ของควายไทย จากภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าและความร่วมมือในการพัฒนาทั้งภาครัฐและเกษตรกรผู้เลี้ยงควายได้เป็นอย่างดี โดยได้หารือร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ในการหาแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมควายไทยเพื่อสร้างรายได้ให้แก่พี่น้องเกษตรกร ซึ่งได้เน้นย้ำให้สร้างแรงจูงใจพร้อมทั้งหาตลาดนำการผลิต เพื่อพลิกฟื้นให้ควายไทยกลับมามีความสำคัญในภาคเกษตร โดยการแปรรูปนมควายให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ อาทิ นมสด โยเกิร์ต พุดดิ้ง และเวชสำอางค์ เป็นต้น ตลอดจนมอบนโยบายให้ปศุสัตว์จังหวัดปราจีนบุรี จัดตั้งกลุ่มส่งเสริมการเลี้ยงควายไทย ผลิตนมควายที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ให้ได้พันธุ์ที่ดี โดย ธกส. สนับสนุนสินเชื่อเพื่อการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งมีการลงนาม mou ร่วมกับกรมปศุสัตว์ เมื่อวันที่ 6 ธค. ที่ผ่านมา โดยจะนำร่องส่งเสริมการเลี้ยงควายไทยเพื่อผลิตนม ในจังหวัดปราจีนบุรีเป็นแห่งแรกของประเทศ
“ปัญหาของภาคเกษตรในตอนนี้คือการเผชิญกับภัยแล้ง จึงต้องมาช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้เกษตรกรมีอาชีพและมีรายได้ ดังนั้นจึงต้องส่งเสริมด้านปศุสัตว์ เนื่องจาก จ.ปราจีน มีพื้นที่ที่เหมาะสม โดยเชื่อว่าการส่งเสริมการเลี้ยงควายไทยเพื่อผลิตนมนั้น จะสามารถสร้างรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกรได้” นายประภัตร กล่าว
สำหรับสอนศิริฟาร์มควายไทย มีควายทั้งสิ้น 270 ตัว แม่พันธุ์ จำนวน 160 ตัว จำนวนแม่รีดนม 40 ตัว พ่อพันธุ์ จำนวน 2 ตัว จำนวนลูก 58 ตัว จำหน่ายปีละ 50 – 80 ตัว ราคาขั้นต่ำที่ตัวละ 60,000 บาท โดยกลุ่มตลาดหลักจะเป็นเกษตรกรที่ต้องการพ่อแม่พันธุ์ เพื่อนำไปปรับปรุงพันธุ์ของเกษตรกร มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมควาย เช่น นม โยเกิร์ต สบู่จากน้ำนม ครีมบำรุงผิว ฯลฯ เป็นฟาร์มควายที่ได้มาตรฐานทั้งสถานที่และวิธีการเลี้ยงจนทำให้ได้พันธุ์ควายที่มีรูปร่างขนาดใหญ่ สมบูรณ์ ถูกต้องตามคุณลักษณะควายไทยแท้ อีกทั้งยังได้ลูกควายที่สมบูรณ์แข็งแรง เป็นที่ต้องการของตลาด สามารถขายได้ในราคาสูงอีกด้วย
จากนั้น เวลา 16.00 น. รมช.เกษตรฯ เดินทางไปตรวจเยี่ยมศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ปราจีนบุรี ตำบลลาดตะเคียน อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี โดยสำรวจพื้นที่จำนวนกว่า 3,000 ไร่ เพื่อใช้เป็นพื้นที่ผลิตอาหารผสมเสร็จแบบครบส่วน (tmr) ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคที่เข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งมีต้นทุน กก.ละ ประมาณ 3-4 บาท ถูกกว่าตลาดที่ขายราคาปกติ กก.ละ 8 บาท จะทำให้เกษตรกรขุนวัวได้ภายใน 4 เดือน ซึ่งขอให้เกษตรกรมั่นใจว่าทุกโครงการฯ นั้นมีตลาดรองรับแน่นอน