“รมช.มนัญญา” อุ้มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ภาคเหนือตอนบน เร่งรัดก่อตั้งโรงงานแปรรูปนมสกัดปัญหานมล้นตลาดในปี 63
“รมช.มนัญญา” เร่งรัดการตั้งโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมรองรับปริมาณน้ำนมดิบใน 3 จังหวัดภาคเหนือตอนบนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หวั่นหากไม่รีบตั้งโรงงาน คาดน้ำนมดิบจะเกินความต้องการในปี2563 พร้อมเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้กิจการโคนมแบบครบวงจร อ.ส.ค. ภาคเหนือตอนบน อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง หวังเป็นแหล่งเรียนรู้และศึกษาดูงานด้านกิจการโคนมระดับนานาชาติ
วันนี้ 14 ธันวาคม 62 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้า “โครงการจัดตั้งโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม” และ “ศูนย์เรียนรู้กิจการโคนมแบบครบวงจร” ขององค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ภาคเหนือตอนบนในอ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง โดยมีนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณผู้อำนวยการ อ.ส.ค. ผู้บริหารของ อ.ส.ค. และหัวหน้าส่วนราชการใน จ.ลำปาง ร่วมให้การต้อนรับ
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันการเลี้ยงโคนมในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือตอนบน ประกอบด้วย 3 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ลำพูน และลำปางนับเป็นฐานการผลิตน้ำนมดิบที่สำคัญและคุณภาพดีที่สุดของประเทศไทย มีการรวมตัวกันจัดตั้งเป็น สหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมมากถึง 18 สหกรณ์ และบริษัทเอกชน 4 แห่ง มีเกษตรกรรวม 1,403 ราย จำนวนโคนมทั้งหมด 64,147 ตัว ปริมาณน้ำนมดิบที่ผลิตได้ 8,990 ตันต่อเดือน หรือ 300 ตันต่อวัน และมีแนวโน้มปริมาณน้ำนมดิบของเกษตรกรเพิ่มขึ้นทุกปี จากสถานการณ์ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมมีความวิตก หากไม่มีการขยายโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมเพื่อรองรับปริมาณน้ำนมดิบที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย อาจส่งผลให้เกิดปัญหานมล้นตลาดในอนาคต ตนจึงได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมและติดตามความก้าวหน้าเพื่อให้โครงการดังกล่าวแล้วเสร็จเร็วที่สุดเพื่อลดปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมที่ขาดโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ขนาดที่เพียงพอรองรับน้ำนมดิบที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งหากไม่รีบตั้งโรงงาน คาดน้ำนมดิบจะเกินความต้องการในปี2563 ตามมาอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ จากการเดินทางติดตามความก้าวหน้าทราบว่าขณะนี้โครงการดังกล่าวคืบหน้าอย่างมาก โดยในส่วนของพื้นที่สำหรับใช้ก่อสร้างโรงงานนมนั้น อ.ส.คได้รับความอนุเคราะห์จากสถานีพัฒนาที่ดินลำปาง กรมพัฒนาที่ดิน อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปางในการมอบที่ดินรวม 154–3-75 ไร่สำหรับใช้ก่อสร้าง 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 การจัดตั้งโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม โดยจะใช้พื้นที่ที่ อ.ส.ค.ได้รับอนุญาตให้เช่าที่ราชพัสดุ จากกรมธนารักษ์ โดยตรง จำนวน 79-0-00 ไร่
ส่วนที่ 2 การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้กิจการโคนมแบบครบวงจร ในพื้นที่ของกรมพัฒนาที่ดิน–สถานีพัฒนาที่ดินลำปาง โดยการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกรมพัฒนาที่ดิน กับ อ.ส.ค. พื้นที่จำนวน 75-3-75 ไร่ โดยได้มี การลงนามความร่วมมือระหว่างกรมพัฒนาที่ดิน กับ อ.ส.ค. ไปแล้วเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ อ.ส.ค.ยังได้ดำเนินการจัดจ้างที่ปรึกษามหาวิทยาลัยบูรพา ทำการศึกษาทบทวนโครงการพร้อมออกแบบโครงการจัดตั้งโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมและศูนย์เรียนรู้กิจการโคนมแบบครบวงจร ภาคเหนือตอนบน อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง โดยที่ปรึกษาได้ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2561 ที่มีการสรุปผลการทบทวน-การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (Feasibility Study) พร้อมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะจากมุมมองของที่ปรึกษาที่เป็นประโยชน์ ต่อโครงการ พร้อมออกแบบโครงการ ที่ชัดเจน พร้อมดำเนินการในขั้นตอนที่ อ.ส.ค.สามารถจะนำเสนอเพื่อขอความสนับสนุนงบประมาณ หรือดำเนินการจัดหาผู้ลงทุนในลำดับต่อไป โดยโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม จะมีกำลังการผลิต 150 ตัน ต่อวัน ใช้งบประมาณค่าก่อสร้างและอุปกรณ์เครื่องจักรทั้งโครงการ 1,015,765,370.77 บาท
ด้านดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณผู้อำนวยการ อ.ส.ค. กล่าวถึงความเป็นมา ในจัดตั้งโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมและศูนย์เรียนรู้กิจการโคนมแบบครบวงจร อ.ส.ค.ภาคเหนือตอนบน อ.ห้างฉัตร จ.ลำปางว่า เกิดจากชุมนุมสหกรณ์โคนมภาคเหนือ จำกัด โดยนายชุมพร ปาลี รองประธานรักษาการประธาน ได้มีหนังสือกราบเรียน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในคราวเดินทางมาปฏิบัติราชการและเยี่ยมประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2559 ขอความอนุเคราะห์ให้รัฐบาลพิจารณางบประมาณสนับสนุนการจัดตั้งโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมขนาดใหญ่ และจัดตั้งศูนย์เรียนรู้กิจการโคนมครบวงจร เนื่องจากการเลี้ยงโคนมในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือตอนบน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาแล้ว จึงได้ส่งเรื่องให้ อ.ส.ค.พิจารณาดำเนินการ ต่อมาคณะกรรมการ อ.ส.ค.ในคราวประชุมครั้งที่ 9/2559 เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2559 ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะว่าเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ ของชุมนุมสหกรณ์โคนมภาคเหนือ จำกัด และเป็นไปตามความเห็นของปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงให้ อ.ส.ค. ดำเนินการ ดังนี้ 1. จัดตั้งโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม ที่ดำเนินการโดย อ.ส.ค. เพื่อรองรับผลผลิตน้ำนมดิบที่เพิ่มขึ้นตามที่รัฐบาล โดยจัดทำโครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตของเกษตรกรเป็นฟาร์มขนาดกลางและขนาดใหญ่ 2.จัดตั้งศูนย์เรียนรู้กิจการโคนมครบวงจร ซึ่งประกอบด้วยศูนย์ Feed Center เพื่อเป็นแหล่งสนับสนุนอาหารโคนมในราคาต้นทุนต่ำ ศูนย์เลี้ยงโคนมทดแทน เป็นการแบ่งเบาภาระ ของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในการนำโคทดแทนมาเลี้ยงยังศูนย์แทน ตามข้อจำกัดด้านแรงงาน สร้างแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่สานต่ออาชีพของครอบครัว และSmart Farm เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ ศึกษาดูงานด้านกิจการโคนมระดับนานาชาติ