เกษตรฯ เชิญชวนขึ้นทะเบียน ชาวนาเกลือเดินหน้าให้คณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเล สามารถส่งเสริมและแก้ไขปัญหาเกลือทะเลอย่างครบวงจร บูรณาการหน่วยงานรัฐ ร่วมกับเกษตรกร มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรชาวนาเกลืออย่างยั่งยืน

เกษตรฯ เชิญชวนขึ้นทะเบียน ชาวนาเกลือเดินหน้าให้คณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเล สามารถส่งเสริมและแก้ไขปัญหาเกลือทะเลอย่างครบวงจร

บูรณาการหน่วยงานรัฐ ร่วมกับเกษตรกร มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรชาวนาเกลืออย่างยั่งยืน

 

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า คณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เชิญชวนชาวนาเกลือขึ้นทะเบียนเกษตรกรต่อกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งเป็นเลขานุการคณะกรรมการชุดดังกล่าว ทั้งนี้คณะกรรมการพัฒนานาเกลือมีแนวทางขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านเกลือทะเลไทยให้มีความเหมาะสมชัดเจน ครอบคลุม และสอดคล้องกับบริบทการดำเนินงานในปัจจุบันและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แก้ไขปัญหาที่เกษตรกรชาวนาเกลือประสบทั้งจากภัยธรรมชาติและการนำเข้าเกลือจากต่างประเทศ ในการนี้กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้จัดตั้งสำนักเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทยขึ้น เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ต่อไป

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าวอีกว่า โดยปกติแล้วการผลิตเกลือสมุทรมีช่วงเวลาที่สามารถผลิตได้เพียงในช่วงฤดูแล้งตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน – 30 เมษายน ของปีถัดไป จึงขอให้เกษตรกรชาวนาเกลือมาขึ้นทะเบียนเกษตรกรและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร ปี 2562/63 ที่สำนักงานเกษตรอำเภอและเกษตรจังหวัดได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 เพื่อรับสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ โดยสามารถแจ้งขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร การทำนาเกลือสมุทรได้หลังจากวันที่ปล่อยน้ำเข้าแปลงแล้ว 1 วัน จากนั้นเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรจะตรวจสอบพื้นที่ตามที่เกษตรกรได้แจ้งไว้ภายในไม่เกิน 60 วัน ต่อไป

ทั้งนี้การทำนาเกลือได้รับการตีความจากคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า อาชีพทำเกลือทะเลเป็นอาชีพเกษตรกรรมในปี 2561 จากนั้นจึงจัดตั้งคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เกลือทะเลไทย โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน เพื่อจัดทำมาตรฐานเกลือทะเล ร่างพระราชบัญญัติเกลือทะเล จัดตั้งสถาบันเกลือทะเล และการแก้ไขปัญหาหนี้สินของชาวนาเกลือตามยุทธศาสตร์เกลือทะเลไทย พ.ศ. 2560-2564

สำหรับการทำนาเกลือมี 7 จังหวัด คือ เพชรบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ชลบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา และปัตตานี มีพื้นที่มากกว่า 60,000 ไร่ ผลผลิตประมาณ 900,000 ตันต่อปี ชาวนาเกลือร้องเรียนปัญหาราคาเกลือทะเลตกต่ำตั้งแต่ปี 2557 ต้นทุนเกวียนละ 1,600 บาท แต่ขายได้เกวียนละ 700 บาท ขาดทุนเรื่อยมา จนเกิดปัญหาหนี้สินสะสมรวมกันมากกว่า 517 ล้านบาท อีกทั้งผลผลิตเกลือธรรมชาติไม่สามารถผลิตได้ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและมาตรฐานอาหารที่กำหนดว่าเกลือบริโภคต้องเติมสารไอโอดีน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เกลือทะเล โดยปรับระบบการผลิตเกลือทะเลให้มีต้นทุนต่ำเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด และมีช่องทางการตลาดมากขึ้น ล่าสุดมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีได้วิจัยนำเกลือมาสร้างนวัตกรรมผลผลิตใหม่ ๆ ได้แก่ การพัฒนาดอกเกลือทะเลแห้ง สูตรปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพด้วยขี้แดดนาเกลือในระบบปลูกพืชไฮโดรโพรนิกส์ สูตรปุ๋ยขี้แดดนาเกลือ เพื่อเพิ่มคุณภาพผลผลิตของผลไม้และไม้ตัดดอก เป็นต้น และเตรียมจัดตั้งสถาบันเกลือทะเลไทย เพื่อยกมาตรฐานการผลิตเกลือทะเลให้มีการผลิตแบบอุตสาหกรรม

ชาวนาเกลือประสบปัญหาหนี้สินเนื่องจากราคาตกต่ำและรายได้ไม่เพียงพอซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้ สนับสนุนเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรวงเงิน 52.5 ล้านบาท อีกทั้งมีสหกรณ์การเกษตร 4 แห่งร่วมโครงการ ได้แก่ สหกรณ์กรุงเทพ จำกัด จังหวัดสมุทรสาคร สหกรณ์การเกษตรนาเกลือสมุทรสาคร สหกรณ์การเกษตรนาเกลือสมุทรสงคราม และกลุ่มเกษตรกรนาเกลือบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี รับประกันราคาเกลือไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ของราคาตลาด โดยสามารถเก็บเกลือไว้ที่ยุ้งฉางของสหกรณ์หรือของเกษตรกร เป้าหมายเฉลี่ยเกวียนละ 2,500 บาท (1 เกวียนเท่ากับ 1,600 กิโลกรัม) ขณะนี้กำลังเตรียมทำรูปแบบเกษตรแปลงใหญ่และสำรวจความต้องการใช้เกลือตามนโยบายตลาดนำการผลิต พบว่า ปริมาณการใช้เกลือในประเทศมีประมาณปีละ 900,000 ตัน โดยใช้ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูป (รวมเพื่อการส่งออก) 450,000 ตันต่อปี อุตสาหกรรมผลิตน้ำปลา 430,000 ตันต่อปี อุตสาหกรรมผลิตซอสปรุงรสและผักผลไม้ดองในน้ำเกลือ รวมถึงอาหารทะเลในน้ำเกลือ 20,000 ตัน ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เกลือสินเธาว์ที่ผลิตได้มาตรฐานอุตสาหกรรมและมาตรฐานอาหาร ดังนั้น จึงมอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการด้านการตลาดนำการผลิตเกลือทะเล เพื่อแก้ปัญหาราคาเกลือทะเลตกต่ำ ช่วยเหลือให้ชาวนาเกลือให้มีรายได้เพิ่มขึ้น พ้นภาวะหนี้สิน และทำนาเกลือทะเลเป็นอาชีพที่สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของเกษตรกรและเศรษฐกิจของประเทศ