นักวิชาการเกษตร ฮากลิ้ง หลัง เกษตรฯ ขุดนโยบายซื้อเครื่องจักรกลใช้ทดแทนสารกำจัดวัชพืช ไม่ได้เตือนนำเข้าแปลงในฤดูฝนไม่ได้ อาจส่งผลกระทบต่อระบบรากพืช
ด้านผอ. มูลนิธิไบโอไทย ระบุ การแบน 3 สารไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะรัฐสนับสนุนการทำเกษตรเชิงเดี่ยวในระบบทุนนิยม
ศาสตราจารย์รังสิต สุวรรณมรรคา ผู้เชี่ยวชาญด้านวัชพืชและวิทยาศาสตร์เกษตร ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ยังข้องใจเรื่องที่น.ส. มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า ได้นำเข้าสารทดแทนสารเคมีการเกษตร 3 ชนิดซึ่งอยู่ระหว่างจำกัดการใช้ว่า เป็นสารใด จำเป็นต้องเปิดเผยเพื่อให้นักวิชาการเกษตรได้วิจัยและทดสอบประสิทธิภาพ ไม่แน่ใจว่า เป็นสารกลูโฟซิเนตตามที่เป็นข่าวหรือไม่ ซึ่งเป็นกังวลเพราะราคาสูงกว่าพาราควอตและไกลโฟเซต แต่ต้องใช้ในปริมาณมากกว่า รวมถึงถ้าไม่อบรมเกษตรกรให้ใช้อย่างถูกต้องก็ไม่เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภค
ส่วนนโยบายส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรกำจัดวัชพืช ซึ่งจะนำร่องในสหกรณ์การเกษตรนั้นเชื่อว่า เมื่อถึงฤดูฝนจะประสบปัญหามาก นำรถไถ รถแทรกเตอร์เข้าร่องสวนและไร่ไม่ได้เนื่องจากหน้าดินอ่อน รวมทั้งหากมีน้ำหนักมาจะกระทบต่อระบบรากพืช ในช่วงฤดูฝนนั้น วัชพืชเติบโตเร็วมาก การใช้เครื่องจักรตัดเพียง 2-3 วันก็ต้องตัดใหม่ จะหมุนเวียนเครื่องจักรให้สมาชิกสหกรณ์ใช้ได้ทั่วถึงได้หรือไม่ หากกำจัดวัชพืชไม่ทัน ผลผลิตจะเสียหายทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ
“ทราบว่า ในกลุ่มสหกรณ์ยางพาราและปาล์มน้ำมัน กรมส่งเสริมสหกรณ์จะสนับสนุนตัดหญ้า แล้วรถไถซึ่งมีราคาแพง สหกรณ์ต้องจ่ายเองหรือให้หาควายมาลาก ส่วนเครื่องตัดหญ้าสะพายหลังที่ให้สหกรณ์ละ 1 เครื่องจะแบ่งกันใช้อย่างไร หากศึกษาประวัติศาสตร์การทำเกษตรอย่างถี่ถ้วนจะทราบว่า เครื่องจักรกลการเกษตรประดิษฐ์ขึ้นก่อนจะมีสารเคมี ทั้งนี้เพราะเมื่อทำเกษตรในเนื้อที่มากๆ เครื่องจักรกลกำจัดวัชพืชไม่ทัน จึงเป็นสาเหตุให้มีผู้คิดค้นสารเคมีขึ้นมาซึ่งหากใช้ให้ถูกต้องจะไม่เป็นพิษทั้งต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ส่วนสารชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืชยืนยันว่า ไม่มี” ศาสตราจารย์รังสิตกล่าว
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิไบโอไทย กล่าวว่า การใช้สารเคมีไม่ได้แก้ปัญหาภาคการเกษตร โดยผลผลิตไม่ได้เพิ่มขึ้น ศัตรูพืชยังคงระบาด และวัชพืชที่ต้านทานสารพิษกำจัดวัชพืชมากขึ้น ดังนั้นการใช้สารกำจัดวัชพืชและศัตรูพืชจึงเป็นการแก้ปัญหาเกษตรกรรมที่ไม่ยั่งยืน อีกทั้งนำปัญหาใหม่ๆมาสู่ระบบเกษตรกรรมและอาหาร เกษตรกรคือผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเนื่องจากพวกเขาเป็นคนกลุ่มแรกที่ได้รับสัมผัสสารโดยตรง นอกจากนี้สารเคมีเหล่านี้กลับไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มมานานนับตั้งแต่ปี 2535 แล้ว รวมเป็นเงินประมาณ 10,000 ล้านบาทต่อปี โดยรัฐอ้างว่า เพื่อไม่ให้เกษตรกรต้องรับภาระ แต่แท้ที่จริงก็เพื่อผู้ประกอบการสารเคมีทางการเกษตร แต่เกษตรกรที่ต้องลงทุนกำจัดวัชพืชโดยวิธีอื่น เช่น เครื่องตัดหญ้า วัสดุคลุมดิน หรืออื่นๆ กลับต้องเสียภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วย
นายวิฑูรย์กล่าวต่อว่า การแบนสารเคมีทำได้ยากเนื่องจากเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบเกษตรกรรมและอาหารเชิงเดี่ยวภายใต้ระบบทุนนิยม เป็นห่วงโซ่นับตั้งแต่เครือข่ายบริษัทสารพิษกำจัดศัตรูพืช-และเมล็ดพันธุ์พืชระดับโลก เกษตรกรรมเชิงเดี่ยวเพื่อผลิตวัตถุดิบราคาถูกเพื่อการส่งออกหรือป้อนอุตสาหกรรมภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชพาณิชย์ 4 ชนิดได้แก่ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ข้าวโพด และอ้อย เป็นการผลิตพืชเชิงเดี่ยว ที่ต้นทุนสูงแต่ขายได้ในราคาต่ำ การผลิตเช่นนี้จำเป็นต้องอาศัยปุ๋ยและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช รวมทั้งสายพันธุ์ที่คัดเลือกเพื่อให้ตอบสนองต่อการใช้ปัจจัยการผลิตจากภายนอกดังกล่าว
การแบนสารเคมีกำจัดวัชพืชที่มีปริมาณการใช้รวมกันประมาณครึ่งหนึ่งของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้งหมดที่ใช้ในประเทศ จึงไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะบรรษัทสารเคมี และกลุ่มทุนท้องถิ่นที่ค้าขายสารพิษเท่านั้น แต่กระทบต่อความมั่นคงของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ น้ำตาล แป้งมัน เป็นต้น ปัญหาหนี้สิน ปัญหาการถือครองที่ดิน และโครงสร้างทางนโยบายของประเทศที่เอื้อเฟื้อการผลิตเชิงเดี่ยว ทั้งในรูปปุ๋ย/สารเคมีราคาถูก เงินกู้ เงินให้เปล่า และมาตรการสนับสนุนราคา ทำให้เกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่อย่าว่าแต่จะแหวกออกจากวงจรดังกล่าวได้เลย แม้แต่การแบนสารพิษกำจัดวัชพืชบางชนิดเพื่อเปลี่ยนไปใช้วิธีการควบคุมวัชพืชหรือศัตรูพืชแบบอื่นก็ทำให้พวกเขารู้สึกหวั่นไหวว่า จะกระทบกับผลกำไรน้อยนิดที่พวกเขาเคยได้รับว่าจะหดหายลงไปมากกว่าที่เป็นอยู่
“สงครามการแบนสารพิษยังไม่จบ กลุ่มสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง ต้องการเห็นเส้นตายการแบนไกลโฟเซตถูกกำหนดขึ้น เช่นเดียวกับที่หลายประเทศในยุโรปประกาศ และต้องการเดินหน้าจัดการปัญหาสารพิษอื่นๆอีกกว่า 150 ชนิดที่มีพิษภัยไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ในขณะที่กลุ่มต่อต้านก็ไม่ได้พึงพอใจกับการที่ไกลโฟเซตยังไม่ถูกแบน และพวกเขาประสงค์จะให้เลื่อนการแบนพาราควอตออกไปอย่างไม่มีกำหนด เกษตรกรสามารถตัดสินใจเลือกวิถีเกษตรกรรมที่เป็นธรรม เท่าเทียม และสร้างผลกำไรได้โดย การยุติระบบภาษีที่อยุติธรรม เช่น ยุติการยกเว้นการเก็บสารเคมี การมีนโยบายทางการคลังที่เอางบประมาณ 20,00-30,000 ล้านบาทที่ต้องจ่ายเพื่อเยียวยาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมกลับมาสนับสนุนเกษตรเชิงนิเวศ ยุตินโยบายสนับสนุนเกษตรเชิงเดี่ยวที่นำไปสู่ความไม่เป็นธรรม” นายวิฑูรย์กล่าว