ไบโอไทยและเครือข่ายสนับสนุนการยกเลิกสารเคมีทางการเกษตรอันตรายร้ายแรง 686 องค์กร เห็นด้วยที่จะขยายเวลาบังคับใช้ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมยกเลิกสารเคมี 3 ชนิด
ชี้ต้องเคารพกติกาของ WTO ที่ต้องแจ้งสมาชิกก่อนออกกฎหมาย 60 วันและจะมีผลต่อประเทศคู่ค้า 6 เดือนหลังกฎหมายแจ้งแล้ว
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) กล่าวว่า เครือข่ายเครือข่ายสนับสนุนการยกเลิกสารเคมีทางการเกษตรอันตรายร้ายแรง 686 องค์กรไม่เห็นด้วยต่อการทบทวนมติยกเลิกสารเคมี 3 ชนิด แต่ยอมรับได้ หากจะเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายหลังจากออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องปรับสถานะสารเคมี 3 ชนิดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 เนื่องจากตามกติกาขององค์การการค้าโลก (WTO) หากจะมีการยกลิกการใช้สารเคมีการเกษตรชนิดใด อันจะส่งผลให้ประเทศคู่ค้าไม่สามารถส่งสินค้าเข้ามาจำหน่ายได้นั้น จะต้องส่งหนังสือแจ้งไปยัง WTO ให้ประเทศสมาชิกทราบล่วงหน้าก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้ 60 วัน
ทั้งนี้กรมวิชาการเกษตรได้ส่งหนังสือแจ้ง WTO เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายนซึ่งกรอบเวลาไม่เป็นไปตามแนวปฏิบัติ โดยในหนังสือนั้นระบุว่า ไทยจะออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่อง บัญชีสารเคมีวัตถุอันตรายซึ่งจะปรับสถานะสารพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอสเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 เพื่อปกป้องผู้บริโภค สุขภาพของมนุษย์ และความปลอดภัยของสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมีข้อกำหนดว่า เมื่อแจ้ง WTO แล้วอีก 6 เดือนจึงมีผลในทางปฏิบัติแก่ประเทศสมาชิก ไม่เช่นนั้นไทยจะถูกร้องเรียนว่า กีดกันทางการค้า
นายวิฑูรย์กล่าวต่อว่า ไทยยังต้องค้าขายกับสมาคมโลกและต้องนำเข้าวัตถุดิบในการผลิตอุตสาหกรรมต่อเนื่องภาคการเกษตรเช่น ถั่วเหลือง ข้าวสาลี เป็นต้น ซึ่งเมื่อประกาศยกเลิกใช้สารเคมี 3 ชนิดดังกล่าวแล้ว สินค้าเกษตรที่นำเข้าจะต้องมีค่าตกค้างของสารที่ยกเลิกใช้เท่ากับ 0 (zero tolerance) ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขที่ 387 เรื่องอาหารที่มีสารพิษตกค้าง พ.ศ. 2560 แต่เนื่องจากประเทศที่ไทยนำเข้าวัตถุดิบยังคงใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดอยู่ การจะนำเข้าได้จึงต้องแก้ไข “ระดับปริมาณสารพิษที่เป็นอันตรายทางเคมี” (Maximum Residue Limits : MRLs) ซึ่งคณะกรรมาธิการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศในโครงการมาตรฐานอาหารขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติและองค์การอนามัยโลก (Codex; Joint FAO/WHO Food Standards Programme)
“การชะลอเวลาบังคับใช้กฎหมายยกเลิกสารเคมี 3 ชนิดออกไปอีก 6 เดือนจึงเป็นโอกาสให้ไทยได้ปรับค่า MRLs จากที่เคยใช้ตามมาตรฐาน Codex สามารถให้กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรแห่งชาติ (มกอช.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลดระดับสารตกค้างลงอีกให้อยู่ในระดับต่ำสุดเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคได้” นายวิฑูรย์กล่าว