แกนนำเกษตรกรยัน ไม่ส่งมอบสารเคมี 3 ชนิด แม้ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมจะมีผลบังคับใช้ 1 ธันวาคมเพราะเกษตรกรซื้อมาใช้ด้วยเงินตัวเอง ยันแต่งดำไว้อาลัยกฎหมายอยุติธรรม นัดรวมตัวหน้ากระทรวงเกษตรฯ 26 พ.ย. แล้วเคลื่อนขบวนไปทำเนียบฯ โดยสงบและใช้หลักอหิงสา ส่วน “มนัญญา” ที่ข่มขู่จะนำม็อบเสื้อขาวมาสยบ ข้องใจเป็นรมต. เกษตรฯ แต่ไม่คิดช่วยเกษตรกร

แกนนำเกษตรกรยัน ไม่ส่งมอบสารเคมี 3 ชนิด แม้ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมจะมีผลบังคับใช้ 1 ธันวาคมเพราะเกษตรกรซื้อมาใช้ด้วยเงินตัวเอง

ยันแต่งดำไว้อาลัยกฎหมายอยุติธรรม นัดรวมตัวหน้ากระทรวงเกษตรฯ 26 พ.ย. แล้วเคลื่อนขบวนไปทำเนียบฯ โดยสงบและใช้หลักอหิงสา

ส่วน “มนัญญา” ที่ข่มขู่จะนำม็อบเสื้อขาวมาสยบ ข้องใจเป็นรมต. เกษตรฯ แต่ไม่คิดช่วยเกษตรกร

 

นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัยกล่าวว่า แม้ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมยกเลิก 3 สารมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ธันวาคม เกษตรกรจะไม่ส่งมอบให้กรมวิชาการเกษตรเนื่องจากใช้เงินตัวเองซื้อมาในขณะที่เป็นของถูกกฎหมาย ในวันที่ 26 พ.ย. นี้จะแต่งชุดดำแล้วไปรวมตัวกันที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่เช้า โดยหวังว่า จะได้หารือกับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้นายเฉลิมชัยรับฟังความเดือดร้อนของเกษตรกร จากนั้นจะเคลื่อนขบวนไปพบนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล

ทั้งนี้การที่เกษตรกรแต่งชุดดำนั้นเพื่อไว้อาลัยต่อกฎหมายอยุติธรรม เป็นการรวมตัวกันโดยสงบและใช้หลักอหิงสา ไม่ใช่การก่อม็อบ ส่วนการที่น.ส. มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ระบุว่า หากมากดดัน ม็อบเสื้อขาวพร้อมสยบม็อบเสื้อดำนั้นเห็นว่า ไม่สมกับเป็นคำพูดของรัฐมนตรีเกษตรฯ นอกจากไม่ช่วยเกษตรกรแล้ว ยังข่มขู่อีกด้วย พร้อมถามกลับว่า ม็อบเสื้อขาวเป็นคนกลุ่มใด ใช่ม็อบเสื้อกาวน์หรือไม่ หากใช่ถือว่า เป็นกระบวนการจัดตั้งม็อบมาทำร้ายเกษตรกร

ด้านนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ผู้แทนภาคอุตสาหกรรมกล่าวถึง ผลกระทบจากการยกเลิกการใช้สาร 3 ชนิดว่า ผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมมี 2 ด้านคือ ผลกระทบต่อการเกษตรกรและอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารที่ต้องใช้ผลผลิตในประเทศเนื่องจากสารทั้ง 3 ชนิดมีความจำเป็นต่อเกษตรกรในการป้องกันและกำจัดวัชพืชและศัตรูพืช การลงมติให้ยกเลิกอย่างกระทันหันจึงทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น แต่ผลผลิตลดลง ส่งผลกระทบรุนแรงต่ออุปทาน (supply) ของอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร และตลอดจนอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง ที่ต้องใช้ผลผลิตในประเทศเป็นวัตถุดิบเพื่อการแปรรูป สำหรับผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเกษตรและอาหารที่จำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบเพื่อการผลิตและแปรรูป สินค้าอาหารเพื่อการบริโภคภายในประเทศและส่งออกนั้นเนื่องจากไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารรายใหญ่เป็นอันดับต้นของโลก แต่จำเป็นต้องนำเข้าสินค้าเกษตรจากต่างประเทศเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับการแปรรูปเป็นอาหารและอาหารสัตว์ได้แก่ ถั่วเหลือง ข้าวสาลี แป้งข้าวสาลี กาแฟ โกโก้ เป็นต้น หากปรับสถานะให้ 3 สารเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 จะไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบดังกล่าวได้เพราะการนำเข้าวัตถุดิบและการส่งออกสินค้าอาหารของไทยเป็นไปตามมาตรฐานสินค้าเกษตรเรื่อง สารพิษตกค้างซึ่งกำหนดปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 387 พ.ศ. 2560 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง ซึ่งกำหนดให้ปริมาณสูงสุดของสารตกค้างในสินค้าเกษตรในระดับที่ปลอดภัย ต้องเป็นไปตามค่าที่
ประเทศไทยกำหนด หรืออ้างอิงกับค่าที่กำหนดโดยคณะกรรมาธิการโครงการมาตรฐานอาหาร (Codex; Joint FAO/WHO Food Standards Programme) และต้องไม่พบวัตถุอันตรายทางการเกษตรชนิดที่ 4 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม แม้ว่าสินค้าเกษตรที่นำเข้าจะมีระดับการตกค้างจะอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยของ Codex ก็ไม่สามารถนำเข้าได้เนื่องจากเงื่อนไขที่การตกค้างของอันตรายทางการเกษตรชนิดที่ 4 ต้องมีค่าเป็น 0 (zero tolerance) เมื่อการผลิตหยุดชะงักจะเกิดวิกฤตการขาดแคลนอาหารทั้งในประเทศและเพื่อการส่งออกเป็นผลกระทบต่อทั้งผู้บริโภคและระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

สำหรับทางออกเพื่อป้องกันผลกระทบรุนแรงนั้น สมาคมอุตสาหกรรมและธุรกิจต่างๆ ขอเสนอให้ชะลอการบังคับใช้การยกเลิกสารทั้ง 3 ชนิดออกไปอีกอย่างน้อย 2 ปี โดยระหว่างนั้นให้ดำเนินการตามมาตรการจำกัดการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ศึกษาทบทวนหลักฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ในสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการยกเลิกการใช้อย่างละเอียดรอบคอบ พร้อมทั้งศึกษาและพิสูจน์ประสิทธิภาพและต้นทุนของสารหรือวิธีการทดแทน และพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตให้ชัดเจน หารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนให้ครบถ้วนและทั่วถึงในวงกว้าง ที่สำคัญคือ อบรมเกษตรกรอย่างทั่วถึงในการส่งเสริมการทำเกษตรปลอดภัย (GAP) เพื่อป้องกันดูแลสุขภาพเกษตรกรและผู้บริโภคทั้งประเทศ

“แนวทางดังกล่าวจะลดผลกระทบที่มีต่อเกษตรกรกว่า 2 ล้านครัวเรือนและแรงงานภาคเกษตร 12 ล้านคน ป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจโดยรวมมากกว่า 1.715 ล้านล้านบาทซึ่งเป็นผลจากผลผลิตในประเทศลดลง ประกอบกับการที่ไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ อุตสาหกรรมหลายประเภทหยุดชะงัก กระทบต่อ GDP และการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ” นายพรศิลป์กล่าว