เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี ชีวภัณฑ์
กรมวิชาการเกษตร ผลิตชีวภัณฑ์เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีคุมไส้เดือนฝอยรากปมระบาดพริกและฝรั่งส่งตรงเกษตรกรนำไปใช้ได้ผลแล้วกว่า 800 กิโลกรัม ตั้งเป้าปี 63 เป็นพี่เลี้ยงหนุนเกษตรกรผลิตใช้เอง อุบลราธานีและสมุทรสาครเกษตรกรรวมกลุ่มนำร่องขอรับเทคโนโลยีผลิตใช้เองได้แล้ว
นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ในปี 2550 ได้เกิดปัญหาการระบาดของไส้เดือนฝอยรากปมอย่างรุนแรงในพื้นที่ปลูกพริกจังหวัดอุบลราชธานี และศรีสะเกษ มากกว่า 1,629 ไร่ ส่งผลให้พริกมีผลผลิตและคุณภาพลดลง ที่สำคัญโรครากปมสามารถแพร่ระบาดไปยังพื้นที่ในเขตอื่นๆ ได้ถ้าไม่มีการป้องกันกำจัดอย่างถูกวิธี เนื่องจากไส้เดือนฝอยรากปมมีพืชอาศัยที่กว้างมาก เช่น ฝรั่ง เมล่อน มัลเบอร์รี่ มันฝรั่ง และมันสำปะหลัง
ไส้เดือนฝอยรากปมเป็นศัตรูพืชที่มีขนาดเล็กมากไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า 1 ตัวสามารถสร้างกลุ่มไข่ได้ถึง 400-500 ฟองภายในระยะเวลา 30 วัน จัดเป็นศัตรูพืชที่สำคัญติด 1 ใน 5 อันดับที่ทำความเสียหายให้กับพืชเศรษฐกิจมากกว่า 4,500 ชนิด โดยไส้เดือนฝอยรากปมจะไปแย่งกินน้ำเลี้ยงจากพืช ทำให้พืชไม่สามารถดูดไปเลี้ยงลำต้นได้ ทำให้ลำต้นแคระแกรน ผลผลิตลดลง และต้นพืชตายในที่สุด
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร ได้ศึกษาวิจัยวิธีการป้องกันกำจัดไส้เดือนฝอยรากปมโดยชีววิธีเพื่อลดการใช้สารเคมี พบเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีมีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่มีผลต่อการตายของตัวอ่อนระยะที่ 2 ของไส้เดือนฝอยรากปม ซึ่งถือได้ว่าเป็นระยะสำคัญที่ก่อให้พืชเป็นโรค จึงได้นำเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีมาทดสอบกับสาเหตุของโรคพืช โดยนำมาประยุกต์ใช้ในรูปแบบการผลิตเป็นก้อนเชื้อเห็ดนำไปทดสอบด้วยวิธีรองก้นหลุมก่อนปลูกพริกพบว่าก้อนเชื้อเห็ดเรืองแสงสามารถควบคุมไส้เดือนฝอยรากปมได้ จากนั้นได้นำไปทดสอบในแปลงทดลองขนาดเล็กในสภาพโรงเรือนด้วยวิธีรองก้นหลุมก่อนปลูกพริกพบว่าการใช้ก้อนเชื้อเห็ดเรืองแสงอัตรา 10 กรัมต่อต้น มีประสิทธิภาพในการควบคุมไส้เดือนฝอยรากปมได้ดีที่สุด จึงได้ขยายผลงานวิจัยไปในแปลงปลูกพริกของเกษตรกรที่มีการระบาดของโรครากปมที่อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี และอำเภอขามสะแกแสง จังหวัดนครราชสีมา
กรมวิชาการเกษตรได้นำก้อนเชื้อเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีมาใช้ประโยชน์ในการควบคุมโรครากปม ในพริก, มะเขือเทศ, มันฝรั่ง, มันสำปะหลัง, พริกไท และพืชผัก เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับเกษตรกรลดการใช้สารเคมี ช่วยลดต้นทุนการผลิต และมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้และผู้บริโภค โดยพริก มะเขือเทศ ใช้รองก้นหลุมก่อนปลูก อัตรา 10 กรัมต่อต้น มันฝรั่งใช้อัตรา 220 กิโลกรัมต่อไร่ พริกไทย ใช้อัตรา 50 กรัมต่อต้น มันสำปะหลังหว่านเชื้อเห็ดเรืองแสง อัตรา 160 กิโลกรัมต่อไร่ พืชในวงศ์ผักชี และผักกาด ใช้อัตรา 40 กรัม/ตารางเมตร
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรได้แจกจ่ายชีวภัณฑ์เห็ดเรืองแสงให้เกษตรกรได้นำไปใช้แล้วจำนวน 868 กิโลกรัม และได้ขยายผลโดยถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตชีวภัณฑ์ให้แก่กลุ่มเกษตรกรนำไปผลิตใช้เองได้แล้วที่จังหวัดอุบลราชธานี และสมุทรสาครโดยเกษตรกรนำไปใช้กำจัดไส้เดือนฝอยรากปมในฝรั่ง เกษตรกรที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลชีวภัณฑ์เห็ดเรืองแสง สิรินรัศมีเพิ่มเติมได้ที่สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โทร 02-579-9581
เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีเป็นเห็ดเรืองแสงชนิดหนึ่งที่มีการค้นพบครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี 2544 ในเขตพื้นที่ของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่โคกภูตากา อำเภอเวียงเก่า จังหวัดขอนแก่น และได้รับพระราชทานชื่อเห็ดเรืองแสงชนิดนี้ว่า “สิรินรัศมี” มีลักษณะคล้ายเห็ดนางรมแต่จัดเป็นเห็ดพิษ ในสภาพตอนกลางวัน ก้าน ดอกและครีบมีสีขาว แต่ในสภาพกลางคืนหรือที่ไม่มีแสงดอกเห็ดจะเปล่งแสงสีเขียวอมเหลือง
ขอบคุณภาพ ข่าว จาก พนารัตน์ เสรีทวีกุล กลุ่มประชาสัมพันธ์ฯกรมวิชาการเกษตร