เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัยระบุ เกษตรกรจะนำสารเคมี 3 ชนิดไปคืนรัฐทันทีที่ประกาศยกเลิกการใช้มีผลในวันที่ 1 ธันวาคม
หวั่นติดคุกติดตารางและเสียค่าปรับเป็นแสนเป็นล้าน ขอให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง 3 กระทรวงรอรับจะนำไปมอบคืนถึงห้องทำงาน
ทางด้านกลุ่มผู้เห็นด้วยกับการยกเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตรเรียกร้องให้ภาครัฐสนับสนุนการปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์โดยไม่ต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น
นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวถึงกรณีที่ น.ส. มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า ในวันที่ 1 ธันวาคม สารพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอสจะกลายเป็นสิ่งกฎหมาย ผู้ใดมีไว้ในครอบครองจะมีโทษหนัก ทั้งนี้ได้ศึกษาบทลงโทษตามพ.ร.บ. วัตถุอันตราย มาตรา 74 ระบุว่า มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้ากระทำผิดโดยประมาทมีโทษปรับไม่เกิน 800,000 บาททำให้เกษตรกรราว 20,000 คนซึ่งเกรงกลัวโทษได้ประสานมายังสมาพันธ์เกษตรปลอดภัยเพื่อจะขอนำมาส่งคืนรัฐด้วยตนเอง โดยจะไปคืนที่ห้องทำงานนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว. เกษตรฯ น.ส. มนัญญา รมช. เกษตรฯ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว. สาธารณสุข และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว. อุตสาหกรรม
นอกจากนี้เกษตรกรยังมีความกังวลเรื่องค่าทำลายสารเคมีเนื่องจากรมช. มนัญญาระบุว่า เป็นภาระของผู้ครอบครอง ใครใช้เงินหลวงทำลายถึงขั้นติดคุก จึงต้องการถามกระทรวงเกษตรฯ ว่า เกษตรกรซึ่งซื้อสารเคมีไว้เพื่อใช้ในไร่ในสวน แล้วยังมีเหลือคงค้างอยู่จะหาเงินจากไหนมา
นายสุกรรณ์กล่าวต่อว่า การยกเลิกใช้สารเคมี 3 ชนิด โดยเฉพาะพาราควอตกับไกลโฟเซตซึ่งเป็นสารป้องกันกำจัดวัชพืชที่มีประสิทธิภาพ โดยเกษตรกรใช้กันมาเกือบ 50 ปีทำให้เกษตรกรขาดเครื่องมือในการประกอบอาชีพ โดยที่กระทรวงเกษตรฯ ยังไม่มีมาตรการรองรับใดๆ ออกมานั้น ทำให้เกษตรกรทั่วประเทศแจ้งมาว่า ต้องการร้องต่อศาลปกครอง ทางสมาพันธ์จึงได้จัดทำแบบฟอร์มให้ผู้ที่เดือดร้อนลงชื่อเป็นโจทย์ร่วมกัน โดยสมาพันธ์เกษตรปลอดภัยจะรวบรวมรายชื่อทั้งหมดให้ทนายนำร้องศาลปกครองในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ ทันทีที่กฎหมายยกเลิก 3 สารมีผลบังคับใช้
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถีกล่าวว่า เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง 686 องค์กรมั่นใจว่า เกษตรกรรมวิถีอินทรีย์เป็นคำตอบให้เกษตรกรทุกกลุ่ม โดยเฉพาะในพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิดได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ข้าวโพด และไม้ผล ทางเครือข่ายเรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดมาตรการทางการเงินมาช่วยเหลือเกษตรกรได้แก่ การจัดตั้งกองทุนชดเชย เยียวยาผู้ได้รับความเสียหายในช่วงปรับเปลี่ยน รวมถึงจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการทำเกษตรกรรมยั่งยืน มาตรการทางภาษี โดยลดภาษีนำเข้าเครื่องมือ-อุปกรณ์การเกษตรที่เข้ามาทดแทนการใช้สารเคมีและส่งเสริมการพัฒนาเครื่องและอุปกรณ์เพื่อใช้ในการเกษตร มาตรการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเช่น จัดตั้งพ.ร.บ. ควบคุมสารเคมีโดยให้แยกออกจากพ.ร.บ. วัตถุอันตรายและจัดตั้งพ.ร.บ. เกษตรกรรมยั่งยืน
ทั้งนี้เครือข่ายเกษตรอินทรีย์อยู่ทั่วประเทศพร้อมจะเปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้าไปเรียนรู้พร้อมเผยแพร่เทคนิคและวิธีการจนสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง สามารถทำบนพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ระดับ 400-500 ไร่ได้ ขณะนี้ประเทศไทยมีพื้นที่เกษตรยั่งยืนประมาณ 33 ล้านไร่ โดยเป็นเกษตรอินทรีย์กว่า 1 ล้านไร่และได้รับการรับรองแล้วประมาณ 500,000 ไร่
“แม้มีกลุ่มผู้ประกอบการและผู้ส่งออกเรียกร้องให้มีการคงระดับค่าตกค้างสารเคมีในผลผลิต รวมไปถึงให้ทบทวนการยกเลิกใช้เช่นเดียวกับการมีเสียงข้อเรียกร้องในวงวิชาการบางส่วนให้มีการเลื่อนยกเลิกสารพาราควอตออกไปก่อน แต่ทางเครือข่ายยืนยันข้อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกสารเคมี 3 ชนิดตามระยะเวลาที่กำหนด” นายวิฑูรย์กล่าว