สถาบัน บิล เกตส์ มั่นใจไทย จัดประชุมวิชาการนานาชาติการวางแผนครอบครัวที่ใหญ่ที่สุดในโลกปี 2564

สถาบัน บิล เกตส์ มั่นใจไทย
จัดประชุมวิชาการนานาชาติการวางแผนครอบครัวที่ใหญ่ที่สุดในโลกปี
2564

 

สถาบันบิลและเมลินดาเกตส์เพื่อประชากรและสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข      ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน เลือกประเทศไทยเป็นสถานที่จัดประชุมนานาชาติด้านการวางแผนครอบครัว หรือ ICFP 2021 โดยได้รับการสนับสนุนโดยสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (ทีเส็บ) คาดดึงผู้ร่วมประชุมกว่า 5,000 คนจากทั่วโลก เตรียมหารือประเด็นสุขภาพอนามัยและการเจริญพันธุ์เพื่อคุณภาพชีวิตของประชากรโลก โดยการเป็นเจ้าภาพจัดงานนี้จะช่วยพัฒนาด้านสาธารณสุขของประเทศไทย และปูทางสู่เป้าหมายแห่งการพัฒนาอันยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ขององค์การสหประชาชาติในปี 2030 (พ.ศ. 2573)

เมื่อเดือนกันยายน 2562 ที่ผ่านมา ไทยชนะการประมูลสิทธิ์งานประชุมวิชาการนานาชาติด้านการวางแผนครอบครัวที่ใหญ่ที่สุดในโลกปี 2564  หรือ International Conference on Family Planning (ICFP 2021) เป็นงานประชุมที่จัดขึ้นเป็นประจำทุก 2 ปี โดยมีสถาบันบิลและเมลินดาเกตส์เพื่อประชากรและสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ ตั้งอยู่ที่ Johns Hopkins Bloomberg School of Public Health สหรัฐอเมริกา เป็นหน่วยงานหลักในการจัดประชุม ซึ่งเป็นงานประชุมด้านการอนามัยและการเจริญพันธุ์เพื่อคุณภาพชีวิตของประชากรโลก รวมถึงการวางแผนครอบครัว อนามัยแม่และเด็ก ตลอดจนโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอดส์ ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดงานด้านสาธารณสุขระดับนานาชาติครั้งนี้ระหว่างวันที่ 1-4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ณ ศูนย์ประชุมพีช เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 5,000 คนจากทั่วโลก สร้างรายได้ให้ประเทศกว่า 400 ล้านบาท

แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า “การประชุมดังกล่าวจะเป็นเวทีที่สำคัญยิ่งในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การวิจัย นวัตกรรม และการพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายในระดับนานานาชาติ อันจะเป็นผลดีสำหรับประเทศไทยในการส่งเสริมการเข้าถึงบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ในระดับชุมชน การวางแผนครอบครัวด้วยวิธีคุมกำเนิดสมัยใหม่ที่สอดคล้องกับความต้องการอย่างเท่าเทียมตามสิทธิภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในทุกระบบ ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์ชาติที่อยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) และเป็นการปูทางให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายแห่งการพัฒนาอันยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ขององค์การสหประชาชาติในปี 2030 (พ.ศ. 2573) ในการรับรองการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของประชากรทุกคนทุกช่วงวัย”

 

มร. โฮเซ่ ออยยิ่ง ริมอน เดอะเซ็กเคิ่ล (Mr. Jose “Oying” G. Rimon II) ผู้อำนวยการสถาบันบิลและเมลินดาเกตส์เพื่อประชากรและสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ และประธานคณะกรรมการจัดงาน ICFP 2021 ฝ่ายต่างประเทศ กล่าวว่า “สถาบันบิลและเมลินดาเกตส์เพื่อประชากรและสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ มีความยินดีที่ได้ร่วมงานกับกระทรวงสาธารณสุข ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน ในการเป็นเจ้าภาพร่วมกันจัดงาน ICFP 2021 ที่ประเทศไทย การจัดงานในครั้งนี้ได้รับความร่วมมืออันดีจากรัฐบาลไทย ตลอดจนสถาบันการศึกษาและองค์กรสาธารณประโยชน์ที่เป็นที่ยอมรับทั่วโลกด้านความเป็นเลิศในการพัฒนาประชากรและอนามัยเจริญพันธุ์ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญระดับประเทศ โดยนานาประเทศสามารถเรียนรู้วิทยาทานและความสำเร็จของประเทศไทยด้านการวางแผนนโยบายประชากรและการปันผลทางประชากร (Demographic Dividend) ตลอดจนเป็นกรณีศึกษาในการผลักดันให้การอนามัยเจริญพันธุ์อยู่ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นผลสำเร็จ”                            

นางนิชาภา ยศวีร์ รองผู้อำนวยการอาวุโส สายงานธุรกิจ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า ทีเส็บในฐานะหน่วยงานที่ช่วยสนับสนุนในการดึงงาน ICFP 2021 มาจัดที่ประเทศไทยในครั้งนี้ เล็งเห็นถึงโอกาสและศักยภาพในการส่งเสริมอุตสาหกรรมทางการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศไทยตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลในการส่งเสริมให้ไทยเป็น “เมดิคัลฮับของภูมิภาค” จึงร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ดำเนินการประมูลสิทธิ์เสนอให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมนานาชาติด้านการวางแผนครอบครัวปี 2564 (International Conference on Family Planning (ICFP 2021) โดยมีประเทศคู่แข่งทั้งหมด 8 ประเทศ คือ แคนาดา, สหราชอาณาจักร, อินเดีย, เคนย่า,เม็กซิโก, เนเธอแลนด์, ฟิลิปปินส์ และไทยสามารถคว้าชัยชนะได้รับสิทธิ์ในการเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุม ICFP ในปีพ.ศ. 2564 ณ ศูนย์ประชุมพีช (Pattaya Exhibition and Convention Hall – PEACH) เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี

“การเข้าร่วมประมูลสิทธิ์การจัดงานประชุมนานาชาติการวางแผนครอบครัวปี 2564 ครั้งนี้ นอกจากจะตอบโจทย์นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล และเป็นไปตามนโยบายของทีเส็บที่ต้องการเน้นการดึงงานสำคัญ รวมทั้งงานใหญ่ระดับโลก เพื่อสร้างและกระจายรายได้สู่ภูมิภาค กระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น เน้นเพิ่มการกระจายการจัดงานไมซ์ในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศนั้น ที่สำคัญยังเป็นประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดองค์ความรู้ความก้าวหน้าทางวิชาการแพทย์ของไทย และสร้างเครือข่ายวิชาชีพในเวทีนานาชาติ เปิดโอกาสให้บุคลากรวิชาชีพทางการแพทย์ในประเทศได้เข้าถึงความรู้ในระดับสากล อันจะเป็นประโยชน์มหาศาลต่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมด้านการแพทย์ผ่านเวทีการจัดงานไมซ์ต่อไปในอนาคต” นางนิชาภา กล่าว

ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา นอกจากการประมูลสิทธิ์งานประชุมนานาชาติการวางแผนครอบครัวปี 2564 แล้ว ทีเส็บร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งสมาคม องค์กร และสถาบันการศึกษา ได้รับชัยชนะในการประมูลสิทธิ์การจัดงานประชุมนานาชาติเข้ามาจัดในประเทศไทย ระหว่างปีพ.ศ. 2563-2569 ได้รวม 18 งาน โดยแบ่งเป็นการจัดงานในปี พ.ศ. 2563 จำนวน 6 งาน / ปีพ.ศ. 2564 จำนวน 7 งาน / ปีพ.ศ. 2565 จำนวน 4 งาน และปีพ.ศ. 2569 จำนวน 1 งาน ประมาณการว่าจะมีผู้เดินทางมาร่วมประชุมจากต่างประเทศรวมทั้งสิ้น 30,100 คน สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 2,540 ล้านบาท