กยท .ทดสอบการใช้โดรน พ่นสารกำจัดเชื้อรา ยับยั้งการแพร่กระจายของโรคใบร่วงชนิดใหม่ นำร่องในจังหวัดนราธิวาส
พร้อมเร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หารือวิธีการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค เตรียมจ่อเสนอบอร์ด กยท. หามาตรการช่วยเหลือเยียวยาเพิ่มเติมในเดือน พ.ย. นี้
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้ (กยท.) ส่งอากาศยานไร้คนขับ(โดรน) นำสารป้องกันกำจัดเชื้อราเร่งฉีดพ่นในพื้นที่เกิดโรคใบร่วงในยางพาราระบาดในจังหวัดนราธิวาส ยะลา ปัตตานี และตรังโดยสถาบันวิจัยยาง กยท. นำร่องที่แปลงใหญ่ยางพาราบ้านบูเก๊ะตา อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาสเป็นที่แรก โรคนี้เป็นโรคอุบัติใหม่ซึ่งไม่เคยเกิดในยางพารา ต้นยางที่ติดโรคจะใบร่วง ส่งผลต่อการเจริญเติบโต และน้ำยางลดลงร้อยละ 30 – 50 ดังนั้นจึงให้แก้ไขในแปลงปลูก พร้อมกันนี้ต้องศึกษาวิจัยหาแนวทางรักษาโรคที่มีประสิทธิภาพในห้องปฏิบัติการให้ได้ผลเร็วที่สุดเพื่อป้องกันไม่ให้ลุกลามในพื้นที่ปลูกยางทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้
ทั้งนี้กยท. ทุกจังหวัดที่เกิดโรคกำลังสำรวจความเสียหายรวมถึงเก็บตัวอย่างของเชื้อเพื่อหาวิธีการป้องกันและรักษา โดยเจ้าหน้าที่สถาบันวิจัยยางเร่งอบรมสร้างความเข้าใจแก่เกษตรกร การระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่นี้ต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางออกร่วมกันต่อไปเนื่องจากเชื้อราชนิดนี้สามารถแพร่ระบาดสู่พืชชนิดอื่นได้ ในส่วนของ กยท. เตรียมเสนอมาตรการเยียวยาเกษตรกรชาวสวนยางที่สวนเสียหายจากเชื้อราชนิดนี้ ตาม พรบ. การยางแห่งประเทศไทย 49(5) โดยจะนำเสนอต่อคณะกรรมการ กยท. เพื่อหาระเบียบในการช่วยเหลือเยียวยาเพิ่มเติมภายในเดือนพฤศจิกายนนี้
นายกฤษดา สังข์สิงห์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กล่าวว่า พบการแพร่ระบาดของโรคใบร่วงยางพาราในจังหวัดนราธิวาสมากที่สุดประมาณ 400,000 ไร่ หรือประมาณร้อยละ 40 ของพื้นที่ปลูกยางในจังหวัดนราธิวาสทำให้ ได้ทดสอบการพ่นสารเคมีผ่านโดรนซึ่งสามารถบรรจุสารเคมีขนาด 10 ลิตร โดยผสมสารกำจัดเชื้อราโปรปิโคนาโซลและไดฟีโนโคนาโซลกับน้ำและสารจับใบ ฉีดพ่นยอดยางในพื้นที่เป้าหมาย 300 ไร่ ภายใน 1 สัปดาห์ จากนั้นจะพ่นซ้ำให้ครบ 3 ครั้ง และจะติดตามผลต่อไป นอกจากนี้ยังจัดโครงการอบรมแนวทางการสำรวจและติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคที่เกิดจากเชื้อรา Pestalotiopsis sp. เพื่อเร่งสร้างความเข้าใจถึงที่มาของโรค การแพร่ระบาด และวิธีป้องกันในเบื้องต้นแก่พนักงานของกยท. เขตภาคใต้ตอนล่างและเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ที่มีรายงานการระบาดของโรคเพื่อถ่ายทอดความรู้สู่เกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่ต่อไปได้
“ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลวิธีการป้องกันกำจัดเชื้อราชนิดนี้ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดเนื่องจากเป็นโรคใหม่ สถาบันวิจัยยาง ได้เร่งทดลอง ศึกษาวิจัย และหาทางป้องกันอย่างเต็มที่ เบื้องต้นจึงแนะนำเกษตรกรชาวสวนยางให้ใส่ปุ๋ยบำรุงต้นยางอย่างสม่ำเสมอเพื่อสร้างความสมบูรณ์ให้แก่ต้นยาง หากพบต้นยางมีอาการของโรคให้แจ้งเจ้าหน้าที่ของ กยท .เพื่อเข้าตรวจสอบ หากพบว่า ติดเชื้อราชนิดนี้ให้ใช้สารกำจัดเชื้อรา เช่น เบโนมีล โพรปิเนป แมนโคเซป คลอโรธาโลนิล เฮกซาโคนาโซล หรือ ไทโอฟาเนต-เมธิล ฉีดพ่นทรงพุ่มให้ทั่วทั้งแปลงโดยเครื่องฉีดพ่นแรงดันสูง” นายกฤษดากล่าว