กรมวิชาการเกษตร จับมือ ดีเอสไอ กวาดล้างพื้นที่ 5 จุดแหล่งผลิตและจำหน่ายสารชีวภัณฑ์ อวดอ้างสรรพคุณกำจัดวัชพืชได้ผล
พบผสม 2 สารเคมีชื่อดัง พาราควอทและไกลโฟเซต มูลค่า 25 ล้านบาท ขยายผลตามล่าขบวนการผู้กระทำผิดรับโทษตามกฎหมาย
นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ตามที่กรมวิชาการเกษตรได้รับเรื่องร้องเรียนจากเกษตรกรว่ามีการขายสารชีวภัณฑ์สำหรับกำจัดวัชพืชและศัตรูพืชขายทางสื่อออนไลน์ต่างๆ เป็นจำนวนมาก จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทำการล่อซื้อสินค้าดังกล่าวเพื่อนำมาตรวจวิเคราะห์ เบื้องต้นพบฉลากที่ระบุเป็นสารชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืชไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร และยังพบหลายยี่ห้อมีส่วนผสมของสารเคมีกำจัดวัชพืชพาราควอตและไกลโฟเซต จึงได้สั่งการให้สารวัตรเกษตรทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคร่วมปฏิบัติงานกับเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้าตรวจค้นแหล่งผลิตและจำหน่ายปุ๋ยและวัตถุอันตรายทางการเกษตร 5 จุด ตามที่สืบทราบ โดยแบ่งกำลังเจ้าหน้าที่ออกตรวจค้นกระจายไปตามจุดต่างๆ ได้แก่ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี อ.จอหอ จ.นครราชสีมา อ.พิมาย จ.นครราชสีมา และ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี 2 จุด จากการตรวจค้นพบของกลางที่กระทำผิดกฎหมายพบเป็นวัตถุอันตรายจำนวน 18 รายการ และปุ๋ยจำนวน 36 รายการ ปริมาณรวมทั้งสิ้น 58.5 ตัน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายในครั้งนี้กว่า 25 ล้านบาท
เจ้าหน้าที่ได้อายัดของกลางไว้ทั้งหมดและรวบรวมหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 คือ ผลิตและจำหน่ายวัตถุอันตรายไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไมเกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผลิตและจำหน่ายวัตถุอันตรายไม่ขึ้นทะเบียน มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผลิตและจำหน่ายปุ๋ยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผลิตและจำหน่ายปุ๋ยไม่ขึ้นทะเบียนโทษมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี และปรับตั้งแต่ 4 หมื่น–2 แสนบาท
“สารชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช จะต้องขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรโดยต้องผ่านการประเมินข้อมูลพิษวิทยา การขอนำเข้าหรือผลิตตัวอย่างเพื่อวิเคราะห์คุณภาพของผลิตภัณฑ์ และทำการทดลองประสิทธิภาพ ซึ่งการกำหนดหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนดังกล่าวเพื่อให้เกษตรกรได้ใช้สารที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการกำจัดศัตรูพืช ป้องกันไม่ให้ผลผลิตเสียหาย และที่สำคัญต้องเป็นสารที่มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้ ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม จึงขอเตือนเกษตรกรอย่าได้หลงเชื่อคำกล่าวอวดอ้างสรรพคุณต่างๆ โดยก่อนที่จะซื้อสารชนิดใดมาใช้ก็ตามขอให้สังเกตุที่ฉลากต้องได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องจากกรมวิชาการเกษตร หากสงสัยหรือทราบเบาะแสแหล่งผลิตและจำหน่ายปุ๋ย หรือวัตถุอันตรายทางเกษตรที่ผิดกฎหมายขอให้แจ้งได้ที่กลุ่มสารวัตรเกษตร กรมวิชาการเกษตร โทร.0-2 940-5434” อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าว