กรมชลฯ เตรียมปรับปรุงโครงการส่งน้ำใน จ.นครนายก ชี้ต้องปรับทั้งระบบเพื่อรองรับเกษตรกรทำเกษตรเพิ่มขึ้น

กรมชลฯ เตรียมปรับปรุงโครงการส่งน้ำใน จ.นครนายก ชี้ต้องปรับทั้งระบบ เพื่อรองรับเกษตรกรทำเกษตรเพิ่มขึ้น

เมื่อวันที่ 13-14 พฤศจิกายน 62 ทีมข่าว VOICE เสียงประชาชนออนไลน์  ได้มีโอกาสร่วมกิจกรรม สื่อสัญจร โครงการศึกษาความเหมาะสม การปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครนายก จ.นครนายก ซึ่งเป็นโครงการดีๆที่กรมชลประทาน เชิญสื่อมวลชนลงพื้นที่ ดูหนึ่งในภารกิจของกรมชลประทานในด้านการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อประโยชน์ของประชาชน โดยในครั้งนี้ก่อนลงพื้นที่ไปยัง เขื่อนขุนด่านปราการชล ได้มีการเปิดการประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสม การปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครนายก โดยได้รับเกียรติจาก นายบัญชา เชาวรินทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก เป็นประธานกล่าวเปิดประชุมฯ และในครั้งนี้กรมชลประทานได้มอบหมายให้ นางภัทราภรณ์ เมฆพฤกษาวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านวางแผน) เป็นผู้แทนกรมชลประทานมาร่วมในโครงการฯวันนี้

จากนั้นสื่อมวลชน ได้เดินทางไปยัง เขื่อนขุนด่านปราการชล  พร้อมรับฟังบรรยายสรุปโครงการฯ จาก นายเจษฎา บุญสุยา ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาขุนด่านปราการชล

สำหรับ กรมชลประทาน ได้เดินหน้าโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครนายก จ.นครนายก ซึ่งมีอายุการใช้งานนานกว่า 80 ปีแล้ว พร้อมกับแก้ปัญหาเรื่องน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพทั้งระบบให้สอดคล้องกับพื้นที่ปัจจุบัน

นางภัทราภรณ์ เมฆพฤกษาวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านวางแผน) กล่าวว่า โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครนายก และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก มีความจำเป็นต้องปรับปรุงภาพรวมทั้งหมด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของทั้ง 2 โครงการให้มีความสอดคล้องกัน เหมาะสมกับสภาพในปัจจุบัน โดยมีการศึกษาความเหมาะสมของพื้นที่บริหารจัดการน้ำที่เกี่ยวข้องครอบคลุมลุ่มน้ำนครนายก พื้นที่เกี่ยวเนื่องซึ่งอาจมีโครงข่ายเชื่อมโยงกัน รวมถึงพื้นที่ข้างเคียงซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบ

โดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครนายก เป็นโครงการที่รับน้ำต้นทุนหลักมาจากแม่น้ำนครนายก และลำน้ำสาขาต่างๆ สร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2479 มีอายุการใช้งานมานานกว่า 80 ปีแล้ว ทำให้ประสิทธิภาพการใช้งานลดลงจนอาคารชลประทานบางแห่งชำรุดเสียหาย แม้ว่าได้มีการปรับปรุงซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพที่ใช้การได้ดีตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา แต่การเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม การใช้ที่ดิน การเพาะปลูก กิจกรรมการใช้น้ำ ที่เกิดจากการพัฒนาเขื่อนขุนด่านปราการชล ทำให้โครงสร้างอาคารชลประทานและการบริหารจัดการน้ำไม่สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน จนเกิดปัญหาทั้งด้านการส่งน้ำ การระบายน้ำ คุณภาพน้ำ และปัญหาดินเปรี้ยวที่เป็นลักษณะเดิมของพื้นที่อยู่แล้ว

 

กรมชลประทานจึงว่าจ้างให้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาให้ศึกษาความเหมาะสมเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในกระบวนการศึกษากรมชลประทานและกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 4 ครั้ง เพื่อพิจารณาแนวทางเลือกในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยวันนี้ (13 พ.ย.62) กรมชลประทานได้จัดการประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการเพื่อนำเสนอผลการศึกษา และรับฟังข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาโครงการฯ

ซึ่งผลจากการศึกษาพบว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาอุทกภัย ประกอบด้วย

(1) การบริหารจัดการเขื่อนขุนด่านปราการชล เขื่อนบางปะกงเขื่อนนายกและระบบชลประทาน

(2) ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำชั่วคราวเป็นระยะๆ ทั้งในแม่น้ำปราจีนบุรีและแม่น้ำนครนายก

(3) เพิ่มระบบสูบระบายบริเวณปลายคลองส่งน้ำในพื้นที่ชลประทานและจุดควบคุมที่สำคัญ เพื่อเร่งการระบายน้ำและลดระยะเวลาน้ำท่วมขังไม่ให้เกิดความเสียหายในพื้นที่

(4) ใช้พื้นที่ลุ่มต่ำน้ำท่วมประจำในการช่วยชะลอน้ำหลาก ผันน้ำจากแม่น้ำนครนายกเข้าสู่พื้นที่ฝั่งตะวันออกของลุ่มน้ำเจ้าพระยา

(5) ติดตั้งระบบสูบระบายน้ำเพื่อควบคุมระดับน้ำในแม่น้ำนครนายกในลักษณะของการพร่องน้ำเพื่อรองรับน้ำหลากที่เกิดขึ้นในลุ่มน้ำในลักษณะของแก้มลิงแม่น้ำ

ส่วนแนวทางแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำประกอบด้วย

(1) การปรับปรุงรูปแบบการระบายน้ำของเขื่อนขุนด่านปราการชล จะมีน้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 103 ล้าน ลบ.ม./ปี

 (2) ปรับปรุงระบบส่งน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการชลประทาน/ลดการสูญเสียน้ำ จะทำให้มีน้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 310 ล้าน ลบ.ม./ปี  

(3) จัดหาแหล่งน้ำต้นทุนเพิ่มเติม 2 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองมะเดือ  (85 ล้าน ลบ.ม./ปี) และ อ่างเก็บน้ำบ้านนา
(42 ล้าน ลบ.ม./ปี)  

(4) ปรับปรุงระบบการเพาะปลูกพืชในฤดูแล้งให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน จะลด
การใช้น้ำประมาณ 163 ล้าน ลบ.ม. /ปี

แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำและระบายน้ำในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครนายกและขุนด่านปราการชล พบว่าจำเป็นต้องมีการปรับปรุงคลองและอาคาร และก่อสร้างอาคารใหม่ อาทิเช่น ปรับปรุงเขื่อนนายก ปรับปรุงประตูระบายน้ำ 5 แห่ง ก่อสร้างประตูระบายน้ำ 10 แห่ง ก่อสร้างสถานีสูบน้ำ 6 แห่ง ปรับปรุงดาดคอนกรีตคลอง 10 สาย ระยะทาง 77 กม. ขุดลอกปรับปรุงคลอง 27 กม. เป็นต้น

ผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการมีน้ำชลประทานใช้ทั้งในฤดูฝนและในฤดูแล้ง เกษตรกรสามารถ
ทำการเกษตรได้เพิ่มขึ้น ผลตอบแทนสุทธิทางการเกษตรที่เพิ่มขึ้นประมาณ 1,200 ล้านบาทต่อปี และสามารถลดความเสียหายจากอุทกภัย ประมาณ 45 ล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้กรมชลประทานยังพาสื่อมวลชนมาที่สวนเกษตรของลุงไสว ศรียา เกษตรกรอามรมณ์ดี ที่มีแนวคิดในการทำเกษตรฯแบบสร้างสรรค์ ฟังเรื่องราวแล้วต้องยิ้มตาม  และในพื้นที่ของลุงไสวนั้น เป็นพื้นที่ ที่ได้ใช้ประโยชน์จากน้ำในเขื่อนขุนด่านปราการชล โดยหลังจากมีเขื่อนขุนด่านปราการชลก็ทำให้มีระดับน้ำใต้ดินสูงขึ้นส่งผลให้ต้นไม้ใหญ่งอกงามออกลูกออกผลดีโดยไม่ต้องรดน้ำ

ตลอดจนได้ลงเรือจากท่าน้ำวัดเขานางบวช  นั่งชมบรรยากาศชมวิถีชีวิตสองฝั่งแม่น้ำนครนายกและเดินทางต่อไปยังเขื่อนนายก ร่วมฟังบรรยายสรุปโครงการฯ ถึงความเป็นมาและการปรับปรุง จุดต่างๆ จากนายสุชิน ชลอศรีทอง ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครนายก ซึ่งเขื่อนนายกถือเป็นเขื่อนเก่าแก่ ที่ใช้งานมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2476  เป็นเวลากว่า80ปีแล้ว ทำให้ประสิทธิภาพการใช้งานลดลง อาคารชลประทานบางแห่งชำรุด และมีการซ่อมแซมอยู่ตลอด  จึงมีความเหมาะสมที่จะต้องปรับปรุงเพื่อให้มีประสิทธิภาพการใช้งานที่ดียิ่งขึ้น เพื่อรองรับความเจริญและขยายตัวของประชากรในปัจจุบัน