รมว. เกษตรฯ ประชุมคณะกรรมการระดับชาติ ป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร วันที่ 15 พฤศจิกายนนี้

รมว. เกษตรฯ ประชุมคณะกรรมการระดับชาติ ป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร วันที่ 15 พฤศจิกายนนี้

กำหนดนโยบายและเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ ตลอดจนมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่อาจได้รับผลกระทบตามที่ครม. กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ

ชี้หากทุกภาคส่วนร่วมมืออย่างเต็มที่สามารถป้องกันการระบาดได้แน่นอน

 

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เตรียมประชุมคณะกรรมการอำนวยการป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรแห่งชาติตามที่ครม. เห็นชอบให้เป็นวาระแห่งชาติและพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวเมื่อวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา

ทั้งนี้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์​ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์​ ประธานคณะกรรมการมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รองประธานคณะกรรมการเป็นประธานการประชุมในวันที่ 15 พฤศจิกายน เพื่อกำหนดนโยบายและเตรียมความพร้อมรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) มาตรการช่วยเหลือผู้เดือดร้อนและผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยให้มีการบูรณาการทุกภาคส่วน ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกำกับและติดตามผลการดำเนินงานเพื่อให้เป็นไปตามแผน ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยสามารถดำเนินการเฝ้าระวังป้องกัน และควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรได้อย่างคล่องตัว มีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลสูงสุด

นายเฉลิมชัยกล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งมีการระบาดของโรค ASF กระทรวงเกษตรฯ กรมปศุสัตว์ ผู้ประกอบการ และเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรร่วมมือในการป้องกันโรคอย่างเข้มแข็งมาตลอด โดยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่ยังไม่เกิดโรค สำหรับการประชุมที่จะจัดขึ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้กรรมการซึ่งเป็นผู้แทนจากกระทรวงและกรมต่างๆ สมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย สมาคมผู้ประกอบการเลี้ยง การแปรรูป และการส่งออกต่างๆ เพื่อยกระดับมาตรกรเฝ้าระวังป้องโรคให้เข้มงวดขึ้น ตลอดจนเตรียมแผนรับสถานการณ์ และแนวทางการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ กรณีเกิดโรคเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ทุกฝ่าย

จากข้อมูลของกรมปศุสัตว์เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2562 ปราฏว่า ปัจจุบันประเทศไทยประกาศเป็นเขตเฝ้าระวังการระบาดของโรค ASF แล้ว 27 จังหวัดซึ่งส่วนใหญ่เป็นจังหวัดตามแนวชายแดนและจังหวัดเชื่อมต่อรวม 22 จังหวัดได้แก่ เชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ สระแก้ว จันทบุรี ตราด ราชบุรี ระนอง และประจวบคีรีขันธ์ ส่วนอีก 5 จังหวัดที่ประกาศเป็นเขตเฝ้าระวังบางส่วน ได้แก่ จังหวัดตากมี 5 อำเภอคือ อุ้มผาง แม่สอด ท่าสองยาง แม่ระมาด และพบพระ จังหวัดพิษณุโลกมี 2 อำเภอคือ ชาติตระการ และนครไทย จังหวัดเพชรบุรีมี 2 อำเภอคือ หนองหญ้าปล้อง และแก่งกระจาน จังหวัดกาญจนบุรีมี 5 อำเภอคือ สังขละบุรี ทองผาภูมิ ไทรโยค เมืองกาญจนบุรี และด่านมะขามเตี้ย และจังหวัดชุมพรมี 1 อำเภอคือ ท่าแซะ

“กระทรวงเกษตรฯ ให้ความสำคัญต่อการเฝ้าระวังและป้องกันโรค ASF ที่แม้จะไม่ได้เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน แต่ก็เป็นโรคระบาดร้ายแรงในสุกร หากสุกรติดเชื้อไวรัสก่อโรคมีอัตราการตายสูงถึง 100 เปอร์เซ็นต์ เชื้อ ASF มีความคงทนสิ่งแวดล้อม เชื้อมาสามารถอยู่ในเลือด เนื้อ กระดูก สารคัดหลั่ง และของเสียที่ขับออกจากสุกร แม้นำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์แล้วก็ยังพบการปนเปื้อนของเชื้อโรค นอกจากนี้ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันและยารักษา ขณะนี้เกิดการระบาดขึ้นในจีน เวียดนาม กัมพูชา ลาว เมียนมา ล่าสุดที่ฟิลิปปินส์และเกาหลีใต้ ดังนั้นไทยจึงต้องออกมาตรการป้องกันที่เป็นรูปธรรมเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจของประเทศ” นายเฉลิมชัยกล่าว