ปศุสัตว์ประจวบฯ ชง ผวจ.แจ้งงดการละเล่นวัวลานในงานวัด ลดความสี่ยงโคติดเชื้อโรคปากเท้าเปื่อย หลังประกาศเขตโรคระบาดคุมเข้มหัวหิน –อ.เมือง
วันที่ 6 พฤศจิกายน นายุษฐิระ บัณฑุกุล ปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า หลังจากประกาศกำหนดเขตควบคุมโรคระบาดชั่วคราวชนิดปากและเท้าเปื่อยในโคเนื้อ โคนม รวม 4 จุด ในพื้นที่ อ.เมือง 3 จุด ที่หมู่ 7 ต.ห้วยทราย หมู่ 7 ต.คลองวาฬ และหมู่ 10 ต.บ่อนอก และพื้นที่ อ.หัวหิน 1 จุด ที่หมู่ 7 ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ หลังพบมีโคเนื้อ โคนมป่วยกว่า 200 ตัว ล่าสุดเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ได้ร่วมกับชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านตั้งจุดตรวจคุมเข้มป้องกันยานหานะบรรทุกโคเข้าไปในพื้นที่โรคระบาด พร้อมตรวจใบเคลื่อนย้ายสัตว์ตลอด 24 ชั่วโมง แต่ยืนยันว่าโรคนี้ไม่มีผลกระทบกับการบริโภคเนื้อโคที่ผ่านการการตรวจสอบตามมาตรฐานฟาร์มก่อนนำออกมาจำหน่าย ขณะเดียวกันได้ทำหนังสือแจ้งถึงผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แจ้งขอความร่วมมือผู้จัดการละเล่นวัวลานในพื้นที่ อ.หัวหิน อ.ปราณบุรี อ.สามร้อยยอด อ.กุยบุรี และ อ.เมืองฯ งดเว้นจัดการละเล่นในวัดที่มีการเคลื่อนย้ายสัตว์ เป็นการชั่วคราวจนกว่าสถานการณ์โรคระบาดจะเข้าสู่ภาวะปกติ เพราะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อช่วงที่มีสภาพอากาศหนาวเย็นทำให้เชื้อไวรัสจากโรคปากเท้าเปื่อยคงตัวอยู่ในสภาพแวดล้อมได้นานขึ้น
นายุษฐิระ กล่าวว่า สำหรับมาตรการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคไม่ให้มีการแพร่กระจาย เฝ้าระวังการเคลื่อนย้ายสัตว์ ยานพาหนะ และบุคคลเข้า-ออกพื้นที่ที่กำหนดเขตควบคุมโรคระบาด ได้ประสานสหกรณ์โคนม ศูนย์รับนม เป็นเครือข่ายเฝ้าระวังค้นหาโรคปากและเท้าเปื่อยโดยตรวจสอบฟาร์มโคมนม และฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่เป็นสมาชิก เช่น ฟาร์มเลี้ยงกระบือ แพะ แกะ สุกร หากมีสัตว์ป่วยแสดงอาการต้องสงสัย เช่น ซึม น้ำลายไหล ไม่กินอาหาร หรือเจ็บขา ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทราบทันทีเพื่อเข้าตรวจสอบ และเก็บตัวอย่างยืนยันชนิดของเชื้อที่ระบาด จากนั้นจะควบคุมโรคโดยเร็ว สำหรับในส่วนของโคนม หากพบสัตว์ป่วยจะมีปริมาณผลผลิตน้ำนมเฉลี่ยลดลงผิดปกติ
“ขอให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์เข้มงวดมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพ ได้แก การพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อรถยนต์ ยานพาหนะทุกคันที่เข้า-ออกฟาร์ม แจ้งเจ้าหน้าที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย ให้กับสัตว์เลี้ยงที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน งดการนำสัตว์เข้ามาเลี้ยงใหม่ จากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อยเป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือน หรือจนกว่าสถานการณ์การระบาดจะเข้าสู่สภาวะปกติ สำหรับฟาร์มที่มีโรคระบาดแล้วต้องป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ โดยจัดให้มีพื้นที่เฉพาะสำหรับสัตว์ป่วย แยกสัตว์ป่วยให้ห่างจากสัตว์ปกติให้มากที่สุด แยกอุปกรณ์ของสัตว์ป่วยกับสัตว์ปกติ งดอาบน้ำสัตว์ป่วยเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ หากเป็นโคนมต้องงดส่งนมออกนอกฟาร์ม และงดผสมเทียมจนกว่าสัตว์ป่วยตัวสุดท้ายจะหายป่วยเป็นเวลาอย่างน้อย 10 วัน” นายนายุษฐิระ กล่าว
พิสิษฐ์ รื่นเกษม ข่าวประจวบคีรีขันธ์