“ประภัตร” เยือนสุรินทร์ ลุยตรวจการแพร่ระบาด โรคระบาดไหม้คอรวงข้าว
คาดเสียหายแล้วกว่า5 แสนไร่ เตรียมระดมโดรน ฉีดพ่นตามคำขอชาวนาที่ยังพอช่วยได้
“ประภัตร” เยือนสุรินทร์ ลุยตรวจการแพร่ระบาด โรคระบาดไหม้คอรวงข้าว คาดเสียหายแล้วกว่า5 แสนไร่ เตรียมระดมโดรน ฉีดพ่นตามคำขอชาวนาที่ยังพอช่วยได้ พร้อมเตรียมเสนอ กนข. ขอเงินช่วยเหลือ กล่า 1,000 ล้านบาท ก่อนเสนอ ครม. ชดเชยพื้นที่เสียหายช่วย หลังผู้ว่าราชการ จ.สุรินทร์ ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ
วันที่ 6 พฤศจิกายน 62 นายประภัตร โพธสุธน รมช. เกษตรฯ พร้อมคณะได้เดินทางไปยัง บ้านหนองบัว หมู่ที่ 3 ต.ชุมพลบุรี อ.ชุมพลบุรี จ. สุรินทร์ และ บ้านขาม ต. หนองบัวบาน อ. รัตนบุรี จ. สุรินทร์ เพื่อตรวจเยี่ยม พื้นที่การแพร่ระบาดของโรคไหม้คอรวงข้าวโดย มีนายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ พร้อมคณะให้การตอนรับ พร้อมกับมีการบรรยายสรุปสถานการณ์ ไหม้คอรวงข้าวโดย นายวันรบ เฮ่ประโคน เกษตรจังหวัดสุรินทร์ เพื่อวางมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรเป็นการเร่งด่วน
โดยนายประภัตร เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบล่าสุด พบว่า นาข้าวในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งเป็นรอยต่อ หลายจังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิขณะนี้ พบว่านาข้าวเสียหายแล้วประมาณ5แสน ไร่ โดยบางส่วนที่ยังไม่เสียหายนั้น ทางผู้ว่าราชการ จ.สุรินทร์ ได้ขอให้ทางกระทรวงเกษตรฯ ประสานงานเพื่อขอโดรนจากเอกชนเข้าช่วยฉีดพ่น ไตรโคเดอร์ม่า เท่าที่ยังสามารถช่วยได้ เนื่องจากเหลือเวลาอึกเพียง20วัน ข้าวก็จะสุกที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ ซึ่งไม่ทันต่อการใช้อย่างอื่นมาแก้ปัญหา โดยเฉพาะสารเคมีอาจทำให้เกิดปัญหาสารตกค้างได้ จึงเลือกจะใช้วิธีการฉีดพ่น ไตรโคเดอร์ม่า เพราะถือว่าเป็นสิ่งที่ที่สุดแล้ว โดยขณะนี้ได้ประสานงานเอกชนใจบุญและพร้อมที่จะส่งโดรนเข้ามาช่วยเหลือฟรี ส่วน ไตรโคเดอร์ม่า ก็มีการแจกฟรี จึงไม่กระทบต่อต้นทุนของเกษตรกรที่เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตามในส่วนมาตราการ การช่วยเหลือในความเสียหาย เบื้อนต้นได้สั่งการให้ทางผู้ว่าราชการ จ. สุรินทร์ ตั้งคณะกรรมการเข้ามาสรุปข้อมูลความเสียหายทั้งหมด พร้อมตรวจสอบรายละเอียด ปริมาณ ข้าวที่ลดลง เพราะบางส่วน ไม่ได้มีการเสียหายสิ้นเชิง เพียงแต่ผลผลิตลดน้อยลง โดยข้อมูลโดยเฉลี่ย ประมาณร้อยละ70 ในส่วนปริมาณผลผลิตที่เคยได้ เพราะข้าวลีบ ซึ่งรัฐบาลอาจจะช่วยเหลือและเติมในส่วนที่ขาดหายไป ในเรื่องของราคา ส่วนการชดเชยพื้นที่เสียหาย จะชดเชยให้ไร่ละ1,113 ต่อไร่ ไม่เกิน 20 ไร่ ตามกรอบการให้การช่วยเหลือเรื่องภัยพิบัติ โดยคาดว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นน่าจะใช้งบประมาณในการช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ปลูกข้าวประมาณ กว่า1,000 ล้านบาท เท่านั้น ซึ่งจากนี้ไป คงต้องรอทาง ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำงาน เพื่อสรุปรายละเอียดความเสียหายทั้งหมด และมีการประกาศ เป็นพื้นที่ภัยพิบัติ เพื่อสรุปข้อมูลเสนอมายังกระทรวงเกษตรฯ ก่อนที่จะเสนอไปยัง คณะกรรมการนโยบายข้าว หรือ กนข. หากเห็นด้วยก็จะเสนอต่อ ครม. เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป
ส่วนการแก้ปัญหา การแพร่ระบาดเพื่อไม่ให้เกิดซ้ำขึ้นมาอีก ตนได้กำชับให้เจ้าหน้าที่กรมการข้าว เข้าทำความเข้าใจและฝึกอบรมให้กับเกษตกรป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไหม้คอรวงข้าว โดยจะฝึกอบรมให้กับเกษตรกร ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมพร้อมเรื่องการเตรียมการเพาะปลูกข้าวในฤดูต่อไป โดยเกษตรกรจะต้องมีการคลุกเม็ดพันธ์ุข้าว กับไตรโคเดอร์ม่า ก่อนหว่านข้าวในฤดูกาลต่อไป ขณะเดียวกันจะต้องรู้หลักการใช้ปุ๋ยให้ถูกวิธีโดยเฉพาะปุ๋ยยูเรีย ซึ่งการใช้ปุ๋ยที่ผิดหลักเป็นสาเหตุหนึ่งขอการเกิดโรคระบาดด้วย
“วันนี้เท่าที่ตรวจสอบอย่างละเอียดพบว่า เหลืออีกไม่ถึง20 วัน ก็ จะสิ้นสุดระยะเวลาการเก็บเกี่ยวทั้งหมด คงจะต้องปล่อย ซึ่งทางผู้ว่าราชการ จ. สุรินทร์ ก็ร้องขอให้ ช่วยระดมฉีดพ่น ไตรโคเดอร์ม่าช่วย และช่วยให้เราประสาน โดรนเข้ามาช่วย เบื้องตนได้มีการประสาน ไปกับกลุ่มเอกชน เขารับปากจะเข้ามาช่วยฟรี ซึ่งจะเข้ามาดำเนินการทันที ในวันที่7 พฤศจิกายนนี้ ก็จะระดมฉีดพ่น เท่าที่จะช่วยได้เพราะหากฉีดพ่นเคมีคงจะไม่ดี เพราะอาจเกิดปัญหาสารตกค้างได้ วิธีการนี้น่าจะดีที่สุด ส่วนการให้การช่วยเหลือ ก็ได้สั่งการให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัด ตั้งคณะทำงานร่วมกับทางกรมการข้าว เพื่อสรุปข้อมูลรวมกัน ก่อนเสนอ รายละเอียดเพื่อเสนอต่อ คณะกรรมการ กนข . และเสนอ ครม. ต่อไป โดยเบื้องต้นก็คาดว่าน่าจะใช้งบประมาณกว่า1,000ล้านบาท”
นายประภัตร กล่าวต่อด้วยว่า ” ในส่วนความเสียหายจากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั้งฝนแล้ง น้ำท่วม และโรคระบาดที่เกิดขึ้น ตนยอมรับว่า อาจเสียหายจริงแต่ไม่น่าถึงขั้นขาดแคลน และขออย่าตื่นตระหนก ยืนยันว่าปริมาณผลผลิตยังเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศอย่างแน่นอน ส่วนเรื่องราคาที่อาจสูงขึ้นเป็นเรื่องของกระทรวงพาณิชย์ จะต้องเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องการบริหารจัดการ” นายประภัตรกล่าว
ด้านนายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยว่า จากการดำเนินการในเรื่องการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของ โรคไหม้คอรวงข้าว ทางจังหวัดได้ดำเนินการช่วยเหลืออย่างเต็มที่ โดยจากการฉีดพ่นไตรโคเดอร์ม่า ที่ผ่านมาสามารถชะลอการระบาดได้จริง เมื่อเทียบกับพื้นที่ ที่ไม่ได้มีการฉีดพ่น จากนี้ไป คงจะต้องทำความเข้าใจถึงวิธีป้องกันการแพร่ระบาดและเร่งดำเนินการตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพื่อช่วยเหลือ เกษตรกรให้เร็วที่สุด และจากการตรวจสอบยังพบด้วยว่าพื้นที่ ที่มีการระบาดของโรคไหม้คอรวงข้าวส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ ใช้สารเคมี และจากการตรวจสอบพบว่า พื้นที่การส่งเสริมการปลูกข้าวอินนทรีย์ ไม่มีการระบาดของโรคไหม้คอรวงข้าวแม้แต่พื้นที่เดียว