นักวิชาการเกษตรเกรง โรคไหม้คอรวงข้าว ที่ระบาดในจังหวัดสุรินทร์และศรีสะเกษลุกลาม ทำผลผลิตข้าวหอมมะลิเสียหาย
ชี้กรมการข้าวแจกจ่ายสารไตรโคเดอร์มาให้เกษตรกร ออกฤทธิ์ไม่ทันการแพร่กระจายของเชื้อราก่อโรค
อย่ากลัวกระแสสังคมที่ต้านสารเคมีทางการเกษตร จนละเลยการให้คำแนะนำทางวิชาการที่ถูกต้องแก่เกษตรกร
รศ. สราวุธ รุ่งเมฆารัตน์ ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึง โรคไหม้คอรวงข้าวที่ระบาดในจังหวัดสุรินทร์และศรีสะเกษมากกว่า 36,000 ไร่ว่า เป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงเนื่องจากเป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิแหล่งใหญ่ ซึ่งปลายเดือนพฤศจิกายนนี้จะเป็นช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวพันธุ์ดอกมะลิ 105 ทั้งนี้โรคไหม้ในข้าว (Rice Blast Disease) เกิดจากเชื้อรา Pyricularia oryzae. เกิดได้ทั้งในระยะกล้า ระยะแตกกอ และระยะออกรวง โดยหากเกิดในระยะออกรวงเรียก โรคไหม้คอรวงหรือ โรคเน่าคอรวง เมื่อข้าวเพิ่งเริ่มให้รวง แล้วถูกเชื้อราเข้าทำลาย เมล็ดจะลีบหมด แต่ถ้าเป็นโรคตอนรวงข้าวแก่ใกล้เก็บเกี่ยวจะปรากฏรอยแผลช้ำสีน้ำตาลที่บริเวณคอรวงทำให้เปราะหักง่าย รวงข้าวร่วงหล่นเสียหายมาก
ทั้งนี้ทราบจากข่าวว่า กรมการข้าวแนะนำและแจกจ่ายสารไตรโคเดอร์มาให้เกษตรกรฉีดพ่นป้องกันในนาที่อยู่โดยรอบพื้นที่ระบาด แม้ไตรโคเดอร์มาจะเป็นเชื้อราที่มีคุณสมบัติในการป้องกันโรคพืช แต่ประสิทธิภาพจะขึ้นกับความรุนแรงของการระบาด โดยประเมินจากความเสียหายที่เกิดขึ้น หากในแปลงที่เกิดโรคมีต้นข้าวเสียหายร้อยละ 20-30 การฉีดพ่นไตรโคเดอร์มาในแปลงใกล้เคียงอาจพอป้องกันการติดเชื้อได้ แต่หากเสียหายเกินร้อยละ 50 กว่าที่จุลินทรีย์จะออกฤทธิ์นั้นไม่ทันกับการแพร่กระจายของเชื้อโรค
รศ. สราวุธกล่าวว่า การใช้สารเคมีทางการเกษตรนั้น ในทางวิชาการไม่ได้แนะนำให้ใช้พร่ำเพรื่อ แต่แนะนำให้ใช้ถูกโรค ถูกชนิดพืช และใช้ในปริมาณเหมาะสม ตลอดจนสารเคมีแต่ละชนิดกำหนดปริมาณสูงสุดของการตกค้างที่ไม่เกิดอันตรายไว้ (PHI) ซึ่งจะบ่งบอกว่า เมื่อฉีดสารเคมีชนิดนั้นๆ แล้ว ระยะเวลากี่วันการตกค้างของสารจะลดลงครึ่งหนึ่ง (Half Life) นอกจากนี้ยังจะสลายด้วยแสงแดด จุลินทรีย์ในดิน รวมถึงวัชพืชในแปลงดูดซับไป
“ข้าวที่ออกรวงแล้ว ยังมีเปลือกปกป้อง หากใช้อย่างถูกต้องและเก็บเกี่ยวผลผลิตตามระยะเวลาที่กำหนด ผ่านกระบวนการสี จนกระทั่งถึงมือผู้บริโภค ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพแน่นอน” รศ. สราวุธกล่าว
ด้านผศ. อดิศักดิ์ บ้วนกียาพันธุ์ อดีตอาจารย์คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การระบาดของโรคไหม้คอรวงข้าวในจังหวัดสุรินทร์และศรีสะเกษเป็นวงกว้างนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องเร่งเข้าไปควบคุมด่วนที่สุด ไม่เช่นนั้นข้าวหอมพันธุ์ดอกมะลิ 105 ที่จะเก็บเกี่ยวปลายเดือนนี้เสี่ยงที่จะติดโรคและผลผลิตเสียหายเนื่องจากเชื้อรากระจายทางอากาศ กระแสลมพัดพาสปอร์ไปได้ไกล โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงนี้อากาศเย็นและมีหมอกทำให้เชื้อราเติบโตและกระจายได้รวดเร็ว
ทั้งนี้เมื่อทราบว่า กรมการข้าวแนะนำให้เกษตรกรใช้ไตรโคเดอร์มาฉีดพ่นป้องกันแปลงข้าวที่ยังไม่ติดเชื้อ เกรงว่า จะไม่ได้ผลเนื่องจากปกติแล้วไตรโคเดอร์มาเหมาะสำหรับใช้ป้องกันกำจัดโรครากเน่า-โคนเน่าและยังไม่เคยมีงานวิจัยการใช้ป้องกันกำจัดโรคคอรวงข้าว ที่ผ่านมาเมื่อเกิดโรคไหม้ในข้าวระบาด กรมการข้าวจะแนะนำให้ใช้สารป้องกันกำจัดเชื้อราเช่น คาซูกาไมซิน อีดิเฟนฟอส ไตรไซคลาโซล ไอโซโพรไทโอเลน คาร์เบนดาซิม เป็นต้นฉีดพ่นเพื่อยับยั้งการแพร่กระจายของโรคให้ทันท่วงที แต่ครั้งนี้แนะนำให้ใช้ไตรโคเดอร์มาซึ่งไม่แน่ใจว่า เป็นเพราะกลัวกระแสสังคมที่บางกลุ่มต้านการใช้สารเคมีทางการเกษตรหรือไม่ ทั้งนี้นักวิชาการโรคพืชต้องพิจารณาให้ดีว่า จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตของเกษตรกร รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศหรือไม่
“เปรียบเทียบสถานการณ์โรคไหม้คอรวงข้าวขณะนี้เหมือนคนป่วยหนักซึ่งต้องไปหาหมอเพื่อฉีดยาและให้น้ำเกลือ ไม่ใช่นอนกินพาราเซตามอลอยู่ที่บ้าน อาจทำให้อาการสาหัสจนรักษาไม่ทัน ขอเรียกร้องให้ทุกหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยืนอยู่บนหลักวิชาการ ใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มาช่วยเหลือเกษตรกรและชี้แจงให้สังคมเข้าใจ แต่ถ้าข้าราชการกลัวการกดดันของนักการเมือง รวมทั้งการปั่นกระแสความกลัวของเอ็นจีโอ จนไม่กล้าทำสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม ภาคการเกษตรของไทยจะตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะล่มสลาย” ผศ. อดิศักดิ์กล่าว