“ภัยแล้งลามนาข้าวหลายจังหวัด กรมชลฯสั่งเร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ระดมช่วยนาข้าวกำลังตั้งท้อง”
เมื่อวันที่ 2 พ.ย.62 นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปีนี้มีปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา ทำให้เขื่อนหลายแห่งมีปริมาณน้ำเก็บกักน้อย จึงสั่งการดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อสูบน้ำให้กับพื้นที่การเกษตร ที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยแล้ง โดยขณะนี้รับรายงานจาก นายอดุลย์ จุมพิศ ผู้อำนวยการส่วนเครื่องจักรกล สำนักงานชลประทานที่ 3 ว่า จังหวัดพิจิตร หมวดปฏิบัติการสูบน้ำพิจิตร ฝ่ายปฏิบัติการสูบน้ำ และ ฝ่ายปฏิบัติการเครื่องจักรกลและยานพาหนะ ลำเลียงเครื่องสูบน้ำ ขนาด 12 นิ้ว พร้อมอุปกรณ์ จำนวน 2 เครื่อง เข้าติดตั้งในพื้นที่ บริเวณ หมู่ 2 และ หมู่ 5 ตำบลหนองหญ้าไทร อำเภอสากเหล็ก เพื่อทำการสูบน้ำส่งให้พื้นที่การเกษตรจำนวนกว่า 7,000 ไร่ ที่กำลังขาดแคลนน้ำ
รวมทั้งจังหวัดพิษณุโลก หมวดปฏิบัติการสูบน้ำพิษณุโลก ฝ่ายปฏิบัติการสูบน้ำ และ ฝ่ายปฏิบัติการเครื่องจักรกลและยานพาหนะ ลำเลียงเครื่องสูบน้ำ ขนาด 8 นิ้ว พร้อมอุปกรณ์ จำนวน 2 เครื่อง เข้าทำการติดตั้งเพิ่มเติมจากเดิมที่ติดตั้งก่อนหน้านี้แล้ว จำนวน 2 เครื่อง รวมเป็น 4 เครื่อง เพื่อเพิ่มระยะการส่งน้ำจากสระน้ำบ้านหัวเมือง ส่งน้าเข้าสู่ระบบคลองจ่ายน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกข้าว ที่ข้าวอยู่ในช่วงตั้งท้อง ในพื้นที่บ้านหัวเมือง หมู่ 9 ตำบลเนินเพิ่ม อำเภอนครไทย
ส่วนจังหวัดอุตรดิตถ์ หมวดปฏิบัติการสูบน้ำอุตรดิตถ์ ฝ่ายปฏิบัติการสูบน้ำ และ ฝ่ายปฏิบัติการเครื่องจักรกลและยานพาหนะ ลำเลียงเครื่องสูบน้ำ ขนาด 6 นิ้ว พร้อมอุปกรณ์ จำนวน 1 เครื่อง เพื่อทำการสูบน้ำส่งให้กับพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปี จำนวนกว่า 109 ไร่ ในพื้นที่บริเวณบ้านวังแดง หมู่ 5 ตำบลหาดงิ้ว อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ ทั้งนี้ ได้ติดตั้ง พร้อมเดินเครื่องสูบน้ำ ให้กับพื้นที่ประสบปัญหาเรียบร้อยแล้ว
“กรมชลฯมีความเป็นห่วงพี่น้องเกษตรกร จึงได้สั่งการให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ เฝ้าระวัง และจัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ ให้พร้อมสำหรับเข้าให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน ทั้งนี้ การให้ความช่วยเหลือจะต้องดำเนินการตามแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างรัดกุม เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีน้อย จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพื่อให้การปฏิบัติงานตามแผนฯ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน” นายทวีศักดิ์ กล่าว
อย่างไรก็ตามแม้ว่าปัจจุบันปริมาณน้ำต้นทุนมีน้อย หากทุกภาคส่วนตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรน้ำ ช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัด และเป็นไปตามแผนการบริหารจัดการน้ำที่กรมชลประทานกำหนดขึ้นนั้น ยืนยันว่าปริมาณน้ำที่มีอยู่จะเพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำ ไปจนถึงต้นฤดูฝนปี 2563 ได้อย่างแน่นอน