เกษตรฯ KICK OFF จ่ายเงินประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 ประกันราคายางแทนการแทรกแซงราคา ลดการบิดเบือนกลไกตลาดความผันผวนด้านราคา ช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางกว่า 1.7 ล้านคน ในพื้นที่ปลูกยางพารา 17 ล้านไร่

เกษตรฯ KICK OFF จ่ายเงินประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 ประกันราคายางแทนการแทรกแซงราคา

ลดการบิดเบือนกลไกตลาดความผันผวนด้านราคา ช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางกว่า 1.7 ล้านคน ในพื้นที่ปลูกยางพารา 17 ล้านไร่

 

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลัง KICK OFF เปิดโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 โดยมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ณ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบอนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 งบประมาณ 24,278.62 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางกว่า 1.7 ล้านคน ในพื้นที่ปลูกยางพารา 17 ล้านไร่ ให้มีรายได้ที่แน่นอนสม่ำเสมอ สร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรชาวสวนยาง โดยรัฐบาลจะประกันราคายางแทนการแทรกแซงราคา เพื่อลดการบิดเบือนกลไกตลาดและลดความผันผวนด้านราคาจากพ่อค้าคนกลาง โดยกำหนดราคาประกันรายได้จากการขายยางพารา 3 ชนิด ได้แก่ ยางแผ่นดิบคุณภาพดี ราคา 60 บาทต่อกิโลกรัม น้ำยางสด (DRC 100%) ราคา 57 บาทต่อกิโลกรัม และยางก้อนถ้วย (DRC 100%) ราคา 23 บาทต่อกิโลกรัม

โดยมีหลักเกณฑ์ให้เกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลปลูกยางกับการยางแห่งประเทศไทย ที่มีต้นยางอายุ 7 ปีขึ้นไป เปิดกรีดแล้ว รายละไม่เกิน 25 ไร่ กำหนดปริมาณผลผลิตยางประกันรายได้ (ยางแห้ง) ที่ 20 กิโลกรัมต่อไร่ต่อเดือน

 

สำหรับการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 มีการกำหนดระยะเวลาดำเนินการ 6 เดือนตั้งแต่ตุลาคม 2562 ถึงมีนาคม 2563 โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรชาวสวนยาง 3 งวด ได้แก่ 1) ประกันรายได้เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2562 จ่ายงวดที่ 1 ระหว่างวันที่ 1 – 15 พฤศจิกายน 2562 2) ประกันรายได้เดือนธันวาคม 2562 – มกราคม 2563 จ่ายงวดที่สอง ระหว่างวันที่ 1 – 15 มกราคม 2563 และ 3) ประกันรายได้เดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2563 จ่ายงวดที่สาม ระหว่างวันที่ 1 – 15 มีนาคม 2563 โดยค่าบริหารโครงการวงเงิน 234 ล้านบาท ให้ใช้จ่ายจากเงินกองทุนพัฒนายางพารา

ทั้งนี้ ค่าประกันรายได้คำนวณจากราคายางที่ประกันรายได้ ลบราคากลางอ้างอิงการขาย แล้วคูณด้วยปริมาณผลผลิตยางตามเนื้อที่กรีดยาง เป็นค่าประกันรายได้ในแต่ละเดือน โดยจะจ่ายเงินประกันชดเชยรายได้ส่วนต่างจากการขายยางพารา 2 เดือนต่อ 1 ครั้ง เข้าบัญชีเกษตรกรชาวสวนยางโดยตรง ผ่าน ธ.ก.ส. แบ่งสัดส่วนรายได้ เจ้าของสวนยาง 60% และคนกรีดยาง 40% ซึ่งในวันนี้ (1 พฤศจิกายน 2562) เป็นวันแรกที่มีการจ่ายเงินให้แก่เกษตรกร จึงมั่นใจได้ว่าโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของชาวสวนยางได้ตามหลักการ “ทำได้เร็ว ทำได้จริง” ตามที่ตั้งไว้อย่างแน่นอน

 

ขณะที่นายสุนันท์ นวลพรหมสกุล รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การจ่ายเงินโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง (เจ้าของสวน ผู้เช่า ผู้ทำ และคนกรีดยาง) ที่แจ้งและขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ก่อนวันที่ 12 สิงหาคม 2562 เริ่มจ่ายในงวดแรก จำนวนกว่า 8 พันล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 เป็นต้นไป เบื้องต้นมีเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยางกับ กยท. จำนวน 1,711,252 ราย แบ่งเป็นยางแผ่นดิบ 150,803 ราย น้ำยางสด 470,767 ราย และยางก้อนถ้วย 790,447 ราย คิดเป็นพื้นที่รวม 17,201,391 ไร่

สำหรับเงินประกันรายได้ในแต่ละเดือน จะถูกแบ่งระหว่างเกษตรกรเจ้าของสวนยางและคนกรีดยางในสัดส่วน 60:40 (ตามสัดส่วนการจ้างส่วนใหญ่ของข้อมูลขึ้นทะเบียน) โดยราคากลางจะกำหนดโดยคณะกรรมการกำหนดราคากลางอ้างอิงงวดแรก (ประกาศ ณ วันที่ 25 ต.ค.62) กำหนดราคายางแผ่นดิบ 38.97 บาท/กก. น้ำยางสด 37.72 บาท/กก. และยางก้อนถ้วย 16.19 บาท/กก.