รมว. เกษตรสั่ง สศก. ติดตามผลกระทบจากการที่สหรัฐตัด GSP ชี้อาจมีผลทำให้สินค้าเกษตรบางรายการของไทยมีราคาขายที่สูงขึ้น เนื่องจากสหรัฐเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้น
ย้ำพลิกวิกฤติเป็นโอกาส ให้ทุกหน่วยงานส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและสร้างความสามารถในการแข่งขัน
ด้านรักษาการเลขาธิการสศก. เร่งหารือผู้แทน USDA และ FAO ด่วน
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สั่งการให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) วิเคราะห์และติดตามผลกระทบต่อสินค้าเกษตรและอาหารจากกรณีสหรัฐอเมริกาแจ้งระงับสิทธิพิเศษทางภาษีสินค้า(GSP) จากไทย โดย สศก. ยืนยันว่า สินค้าเกษตรและอาหารหลักของไทยที่ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาจะไม่ได้ผลกระทบมากนัก ทั้งนี้จากการประกาศตัดสิทธิ GSP สินค้า 573 รายการ เป็นสินค้าเกษตร 157 รายการ ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้า ผักแปรรูป ผลไม้ตระกูลเบอรี่ ชาเขียว ขิงป่น หูฉลาม เส้นพาสต้า ผลไม้แปรรูป จึงอาจมีผลทำให้สินค้าเกษตรข้างต้นของไทยมีราคาขายสูงขึ้นเช่น สินค้าผลไม้แปรรูปซึ่งมีมูลค่าส่งออกไปสหรัฐอเมริกาในปี 2561 ประมาณ 45 ล้านเหรียญสหรัฐจะถูกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นจาก 0% เป็น 4%-14% เส้นพาสต้าซึ่งมีมูลค่าการส่งออกไปสหรัฐอเมริกาในปี 2561 ประมาณ 30 ล้านเหรียญสหรัฐจะถูกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นจาก 0% เป็น 6.4%
สำหรับกลุ่มประมงแปรรูปอื่นที่อาจจะถูกตัดสิทธิ GSP ครั้งนี้ ไม่ใช่กลุ่มพิกัดสินค้าประมงหลักที่ไทยส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาคือ กุ้งและปลาทูน่ากระป๋อง ซึ่งยังมีการนำเข้าอย่างต่อเนื่องและเป็นจำนวนมากจึงแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นสหรัฐอเมริกาที่มีต่อไทยในการให้ความร่วมมือต่อต้านประมงผิดกฎหมาย (IUU fishing) ระหว่างอาเซียนและแปซิฟิก อีกทั้งจะผลักดันให้จัดทำนโยบายประมงอาเซียนและการจัดตั้งเครือข่ายอาเซียนในการต่อต้านการประมงผิดกฎหมายในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 35 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 31 ตุลาคมถึง 4 พฤศจิกายนนี้ด้วย
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เผยว่า รมว. เกษตรฯ สั่งการให้หารือกับอัครราชทูตฝ่ายการเกษตรไทยประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กรุงโรม ประเทศอิตาลีผ่านระบบประชุมทางไกล อีกทั้งจะเชิญผู้แทนกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา (USDA) และ FAO ประจำประเทศไทยเข้าพบหารือเพื่อแสวงความร่วมมือกันภายในสัปดาห์หน้า
นายระพีภัทร์กล่าวต่อว่า ในคราวเดียวกันนี้สหรัฐอเมริกาประกาศคืนสิทธิ GSP ให้ไทยบางรายการซึ่งมีสินค้าเกษตรสำคัญได้แก่ ดอกกล้วยไม้ ซึ่งเป็นสินค้ามูลค่าสูงที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตและเพาะพันธุ์กล้วยไม้ใหม่เข้าสู่ตลาดสหรัฐอเมริกาได้มากขึ้นและโกโก้ซึ่งเป็นสินค้าเศรษฐกิจใหม่ที่กระทรวงเกษตรฯ มีแผนผลักดันให้เป็นสินค้าสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความต้องการของตลาดสูง และประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกและสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสม จึงนับเป็นโอกาสที่ดีในการขยายการผลิตสินค้าดังกล่าว
“รมว. เกษตรฯ กำชับให้ใช้หลักตลาดนำการเกษตร โดยให้ทุกหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรที่ตลาดโลกต้องการ อีกทั้งให้ปรับวิกฤตเป็นโอกาส เกษตรกรและผู้ประกอบการสินค้าเกษตรและอาหารของไทยต้องเร่งปรับตัวเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สร้างความสามารถในการแข่งขัน พัฒนาคุณภาพและความปลอดภัยให้เป็นที่เชื่อถือของตลาดต่างประเทศ จึงจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับสินค้าเกษตรและอาหารไทยในตลาดโลกอย่างมั่นคงและยั่งยืน” นายระพีพัฒนากล่าว
สำหรับหลักสิทธิ GSP ถือเป็น “การให้ฝ่ายเดียว” ของประเทศที่พัฒนาแล้วต่อประเทศกำลังพัฒนา/ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ซึ่งการทบทวนสิทธิ GSP ครั้งนี้เนื่องจากการไทยยกระดับการพัฒนา ซึ่งการทบทวนมีทั้งแบบรายสินค้าโดยพิจารณาจากส่วนแบ่งการตลาดและรายประเทศซึ่งพิจารณาจากระดับการเปิดตลาดให้แก่สหรัฐอเมริกา การปฏิบัติด้านแรงงาน การปฏิบัติด้านทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น