“ล้มเขื่อนแก่งเสือเต้น ดัน สะเอียบโมเดล แก้แล้งท่วม ลุ่มน้ำยม ลดขัดแย้งในพื้นที่ เกิดปัญหาขัดแย้งต่อเนื่องยาวกว่า25ปี”
เมื่อวันที่28ต.ค.62 นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่าภาครัฐเตรียมผลักดันโครงการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำยม เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำให้ประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนบน จากก่อนหน้านี้มีความพยายามแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ในโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เพื่อกักน้ำไว้ใช้ฤดูแล้ง แต่เนื่องจากโครงการดังกล่าวส่งผลให้ประชาชน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ต้องอพยพออกจากพื้นที่เสียที่ทำกิน ทำให้เกิดความขัดแย้งยืดเยื้อมานานกว่า 25 ปี
โดยล่าสุด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบให้คณะที่ปรึกษาจากมหาวิทยาลัยนเรศวร ศึกษาหาทางออกที่เป็นไปได้ในการแก้ปัญหาของลุ่มน้ำยมยั่งยืนและศึกษาการพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำในลุ่มน้ำยมตอนบน กระทั่งได้“สะเอียบโมเดล” แนวทางบริหารจัดการลุ่มน้ำอย่างเหมาะสมยั่งยืนและสอดคล้องกับหลักวิชาการ
สำหรับ สะเอียบโมเดล จะพัฒนาแหล่งน้ำตามความต้องการของชุมชน สร้างฝาย อ่างเก็บน้ำ ทำนบ และกลุ่มบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน สอดคล้องยุทธศาสตร์น้ำ 5 ด้าน อีกทั้งยังแก้ปัญหาแบบใหม่ที่ให้ชุมชนร่วมกำหนดทิศทางพัฒนาพื้นที่ร่วมกับภาครัฐแบบสอดคล้องวิถีชีวิต ลดผลกระทบการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติจากการดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่
นอกจากนั้นยังถือเป็นการพัฒนาแหล่งเก็บน้ำ เพื่อการเกษตรในลำน้ำสาขาย่อย นำไปสู่การสร้างรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิต ลดใช้งบประมาณ สทนช. จึงพร้อมสนับสนุนแนวทางที่เหมาะสมเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เพื่อให้แนวทางแก้ภัยแล้ง-น้ำท่วมเกิดเป็นรูปธรรมมากภายในปี 2564 และสทนช.จะขยายผลใช้แก้ปัญหาพื้นที่อื่นควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาทั้งลุ่มน้ำเชิงพื้นที่ (Area Based) ซึ่งลุ่มน้ำยมแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการทำงาน