“รมช.ประภัตร” เปิดด่านแม่สอด จ.ตาก หลังตลาดตอบรับราคาวัวในประเทศขยับตัวสูงขึ้น
เดินหน้าลุยโครงการวัวล้านตัว เฟสแรก5แสนตัว ให้เกษตรกรเลี้ยงหลังน้ำลด ส่งขายตลาดจีนรับไม่อั้น ซื้อวัวมีชีวิต ดันราคาสูง95-100บาทต่อกก. ชี้เกษตรกรทุกคนแฮปปี รายได้งามกว่าปลูกพืช
วันนี้ 23 ต.ค.62 นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าในวันพรุ่งนี้ ตนจะเดินทางไปเปิดด่านแม่สอด จ.ตาก ชายแดนไทย-เมียนมา หลังจากสั่งปิดมาตลอด4สัปดาห์ จนขณะนี้ได้ส่งผลให้ราคาวัวของตลาดในประเทศขยับตัวสูงขึ้นแล้ว ซึ่งการค้าขายต่อไปนี้จะต้องดำเนินการอย่างเสมอภาค โดยการแบ่งปันอย่างเป็นธรรมตลอดห่วงโซ่การผลิตจนถึงผู้บริโภค และเกษตรกรไม่ถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง
“ได้รวบรวมกลุ่ม สมาคม ชมรม ผู้ค้าวัว รายใหญ่ทั่วประเทศ 24ราย สั่งให้การซื้อขายวัวใช้ชั่งกิโลกรัมเป็นมาตรฐานของทุกตลาดชุมชน อย่าใช้เพียงสายตาของนายฮ้อย พ่อค้าวัว ท้องถิ่นมาประเมิน จากนี้จะไม่มีใครถูกเอารัดเอาเปรียบ รวมทั้งให้ตั้งคอกกลาง เกษตรกรรายใด ยังมีความจำเป็นเดือดร้อนเรื่องที่เลี้ยง นำมาฝากวัวไว้ก่อน แล้วนำไปขุนต่อได้ ซึ่งตนหาความร่วมมือจากทุกฝ่ายร่วมกันหาทางแนวแก้ไขไปทุกขั้นตอน ให้วัวมีคุณภาพตามที่กำหนด ทำให้คนจีนผู้ซื้อ มาซื้อจากเกษตรไทยได้ราคาที่เป็นธรรม ในขณะนี้ราคาวัวมีชีวิตขยับขึ้น95-100บาทต่อกก.แล้ว และได้ตามต้องการของเท่าไหร่มีซับพลายไว้รองรับหมด ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดนี้เตรียมไว้สำหรับโครงการโคล้านตัว โคเนื้อสร้างชาติ ซึ่งเฟสแรกจะเริ่ม5แสนตัว ให้เกษตรกรเลี้ยงช่วยเสริมอาชีพใหม่หลังประสบอุทกภัย ภัยแล้ง ให้มีรายได้โดยเร็ว สามารถนำไปขุนใน120วัน ให้มีน้ำหนัก400กก.ขึ้นไปต่อตัว ส่งขายประเทศจีนมีความต้องการอีกจำนวนมาก”นายประภัตร กล่าว
นายประภัตร กล่าวว่า ในช่วงแรกของโครงการใช้วัวจากเมียนมา นำเข้ามา มีน้ำหนัก ตัวละ200กก. เกษตรกรนำไปขุน3-4เดือน ให้ได้น้ำหนักเพิ่ม100กก.วันนี้คนจีนให้ราคารับซื้อ95-100บาทต่อกก.ซึ่งกำหนดเป็นวัวขนาดโตขุนแล้ว400กก.ขึ้นไป ทุกวันนี้การค้าขายวัว นำเข้าจากเมียนมา คนเวียดนาม คนลาว มาซื้อที่ด่านแม่สอด ผ่านประเทศไทยไปเอาขุนที่ลาว เวียดนาม ส่งประเทศจีน โดยคนไทยไม่ได้อะไรเลย เมื่อกระทรวงเกษตรฯมาเดินหน้าโครงการโคเนื้อสร้างชาติ เกษตรกรทุกคนแฮ้ปปี้ สามารถทำรายได้ทดแทนปลูกพืช กำไรดี ไม่มีเสี่ยง ฝนแล้งน้ำท่วม เลี้ยง 120วันขายได้ ระหว่างนี้กำลังของบ จากนายกรัฐมนตรี และครม.เพื่อชดเชยดอกเบี้ยให้เกษตรกร 4-500ล้านบาท และเป็นงบค่าประกันชีวิตโคตัวละ100บาท ขอใช้วงเงินกู้ กว่า1หมื่นล้านบาท จากธกส.(ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์)ให้เกษตรกรกู้ซื้อวัวตัวละ2.5หมื่นบาท เฟสแรก 5แสนตัว หากวัวเป็นอะไรตาย บริษัทประกันจ่ายเงินกู้แทนให้ชาวบ้าน ไม่ต้องรับความเสี่ยงเรื่องหนี้สิน