กรมส่งเสริมสหกรณ์ พร้อมขานรับนโยบายต่อยอด “ตลาด นำการผลิต”รัฐบาลทุกมิติ
มุ่งเสริมเขี้ยวเล็บสหกรณ์ให้เกิดเข้มแข็งเป็นที่พึ่งเกษตรกร ลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต -สร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้เกษตรกรไทย
นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลด้านตลาดนำการผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งพัฒนาศักยภาพของสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็ง เพื่อทำหน้าที่ในการช่วยเหลือเกษตรกรและเป็นกลไกเชื่อมโยงความต้องการของประชาชนในพื้นที่กับการสนับสนุนของรัฐบาลตามแนวทางประชารัฐ และเพื่อให้เกษตรกรมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ สามารถเพิ่มรายได้และลดรายจ่าย รวมทั้งมุ่งลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต ด้วยการขับเคลื่อนผ่านนโยบายสำคัญ เช่น ทำการเกษตรแปลงใหญ่ ศพก. การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม ธนาคารสินค้าเกษตร การบริหารจัดการน้ำ เป็นต้น
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบนโยบายในการขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมภายใต้แนวคิด “การตลาดนำการผลิต” ซึ่งเป็นการเสริมต่อจากนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ โดยส่งเสริมให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มในรูปแบบของวิสาหกิจชุมชนหรือสหกรณ์ เพื่อช่วยด้านการลดต้นทุนและการเพิ่มผลผลิต เกษตรกรต้องมีการวางแผนการผลิตโดยกำหนดปริมาณและพื้นที่การผลิตที่เหมาะสม และแผนการตลาดรองรับผลผลิตของเกษตรกรให้มีรายได้ที่แน่นอน
โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้สนับสนุนให้สหกรณ์เป็นกลไกในการขับเคลื่อนการตลาดนำการผลิต ผ่านโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา โดยมีสหกรณ์เข้าร่วมโครงการ จำนวน 290 แห่ง สมาชิกสหกรณ์ 19,769 ราย พื้นที่ปลูก 163,383 ไร่ โดยสหกรณ์จะมีบทบาทในการวางแผนการผลิต จัดหาปัจจัยการผลิต รวบรวมและรับซื้อผลผลิตจำหน่ายให้แก่ภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง
สำหรับโครงการข้าวโพดหลังนา นับเป็นโครงการที่สนองนโยบายตลาด นำการผลิตที่ประสบความสำเร็จเชิงรูปธรรมเป็นอย่างมาก ซึ่งล่าสุดได้มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (แปลงนำร่อง) ในแปลงนำร่องของนายสมพร แตงน้อย เนื้อที่ 10 ไร่ เพาะปลูกเดือนสิงหาคม 2561 และเก็บเกี่ยวผลผลิตเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.61 ขายให้กับสหกรณ์การเกษตรบ้านหม้อ จำกัด ในระดับความชื้นที่ 28% ราคา 7.20 บาท/กก. ทำให้มีรายได้ 86,400 บาท และมีกำไรเฉลี่ยไร่ละ 4,850 บาท ส่วนแปลงของนายทองเหลือ มูลนิล สมาชิกสหกรณ์ มีเนื้อที่ปลูก 3 ไร่ ลงทุนไป 11,370 บาท เริ่มเพาะปลูกเมื่อวันที่ 3 กันยายน 61 เก็บเกี่ยวทั้งหมดแล้วผลปรากฏว่าได้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ประมาณ 1,200 ก.ก. ความชื้นประมาณ 27% ซึ่งสหกรณ์จะรับซื้อในราคากิโลกรัมละ 8 บาท ทำให้นายทองเหลือ มีรายได้ทั้งสิ้น 28,800 บาท เมื่อหักต้นทุนในการเพาะปลูกผลิต 11,370 บาท จะมีกำไร 17,430 บาท และได้กำไรเฉลี่ย 5,810 บาทต่อไร่
นอกนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ยังได้สนับสนุนโยบายโครงการบริหารจัดการวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่ (Mega Farm Enterprise) เพื่อเพิ่มพูนรายได้เกษตรกร โดยล่าสุดมี 3 สหกรณ์ได้รับความเห็นชอบให้เป็นพื้นที่ดำเนินโครงการแปลงตัวอย่าง 10 แปลง ได้แก่ 1.แปลงยางพารา สหกรณ์กองทุนสวนยางหนองบัว จำกัด ต.หนองบัว อ.รัษฎา จ.ตรัง พื้นที่ 5,075 ไร่ เกษตรกร 370 ราย พัฒนารูปแบบการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ให้มีศักยภาพในการรวบรวมยางพารา จัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ในการแปรรูปยาง 2.แปลงใหญ่ปาล์มน้ำมัน สหกรณ์นิคมพนม จำกัด จ.สุราษฎร์ธานี พื้นที่ 22,792 ไร่ เกษตรกร 1,214 ราย ส่งเสริมให้สหกรณ์สามารถผลิตน้ำมันปาล์มดิบจากกลุ่มผู้ปลูกปาล์มอย่างยั่งยืน และ3. แปลงโคนม สหกรณ์การเกษตรไพรนกยูง จำกัด อ.หันคา จ.ชัยนาท เกษตรกร 63 ราย แม่โครีดนม 630 ตัว พัฒนาโดยปรับโครงสร้างศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบให้สามารถรับน้ำนมดิบจากฟาร์มเกษตรกรได้ พัฒนาการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ให้เข้มแข็ง