“ลุกฮือค้านรมช. มนัญญา สั่งยุติอบรมเกษตรกรใช้ 3 สารเคมี”
เมื่อวันที่ 19 ต.ค.62 นายเชิดชัย จิณะแสน กรรมการอำนวยการขับเคลื่อนการจำกัดการใช้สารเคมีทางการเกษตรและประธานคณะกรรมการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ระดับประเทศ กระทรวงเกษตรฯ ทำหนังสือส่วนตัวถึงประธานคณะกรรมการวัตถุอันตรายระบุว่า ได้รับการประสานจากเกษตรกรทั่วประเทศว่า สารเคมีทางการเกษตรทั้ง 3 ชนิดมีความจำเป็นต้องใช้ในการทำเกษตรต่อไปเนื่องจากยังไม่มีสารทดแทนที่มีประสิทธิภาพเท่า อีกทั้งมีราคาถูกช่วยลดต้นทุนการผลิต ซึ่งเกษตรกรเห็นด้วยที่จะเข้ารับการฝึกอบรมการใช้อย่างถูกต้องเหมาะสมตามประกาศกระทรวงเกษตรฯ จึงขอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายชะลอการยกเลิกสารเคมีทั้ง 3 ชนิดไปก่อน แล้วดำเนินการตามแผนปฏิบัติการจำกัดการใช้ที่กำหนดไว้ระหว่างปี 2562 – 2564 ซึ่งจะทำให้ภาครัฐมีเวลาในการหาสารและวิธีการทดแทน หรือส่งเสริมมาตรการอื่นแก่เกษตรกร ที่สำคัญจะเป็นการลดความขัดแย้งของสังคมซึ่งมีแนวคิดเป็น 2 ขั้วอยู่ในขณะนี้
นายเชิดชัย กล่าวด้วยว่า การพิจารณาเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ภาคการเกษตรของไทย ความขัดแย้งจะลุกลามขยายวงกว้าง กระทบไปยังประชาชนหลายกลุ่ม หลายองค์กร หลายหน่วยงาน และที่สำคัญที่สุดอาจกระทบกับรัฐบาล หากยังไม่มีทางออกให้เกษตรกรในการป้องกันกำจัดวัชพืชและศัตรูพืชโดยไม่เพิ่มต้นทุนการผลิตจากค่าสารเคมีชนิดใหม่ที่ราคาแพงกว่า และประสิทธิภาพต่ำกว่า ค่าแรงงานที่แพงมาก รวมทั้งหาแรงงานไม่ได้ด้วย การเร่งยกเลิกโดยไม่มีมาตรการรองรับและช่วยเหลือใดๆ แก่เกษตรกรจะเป็นของขวัญปีใหม่แก่คนไทยหรือจะเป็นการทำลายโครงสร้างปัจจัยทางการผลิต รายได้ของเกษตรกร ตลอดจนความอยู่รอดของภาคการเกษตรของไทยกันแน่
รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระบุว่า เมื่อวานนี้ (18 ตุลาคม) คณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนการจำกัดการใช้สารเคมีทางการเกษตรซึ่งมีนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธานได้ประชุมพิจารณาความก้าวหน้าในการดำเนินการตามมาตรการจำกัดการใช้สารเคมีทางการเกษตรตามมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 ในวาระการประชุมมีการพิจารณาบัญชาของนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ที่ให้กรมวิชาการเกษตรแจ้งเกษตรกรให้ยุติการสมัครเข้ารับการฝึกอบรมตามโครงการอบรมเกษตรกรผู้ปลูกพืชที่ต้องใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 62
ทั้งนี้ที่ประชุมได้แสดงความเห็นอย่างกว้างขวางและมีมติให้ดำเนินการอบรมเกษตรกรต่อไปเนื่องจากประกาศกระทรวงเกษตรฯ 5 ฉบับเกี่ยวกับมาตรการต่างๆ ในการจำกัดใช้สารคลอร์ไพริฟอส พาราควอต และไกลโฟเสต จะมีผลบังคับใช้ในวันพรุ่งนี้ (20 ตุลาคม) แล้ว สาระสำคัญประการหนึ่งของประกาศกระทรวงเกษตรฯ คือ การกำหนดให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดได้แก่ ผู้จำหน่าย ผู้ครอบครอง เกษตรกร และผู้รับจ้างพ่นสารเคมีต้องอบรมจากกรมวิชากการเกษตรเพื่อให้เกิดความปลอดภัย ดังนั้นหากยุติการให้เกษตรกรยุติการสมัครเข้ารับการฝึกอบรมอาจขัดต่อข้อกฎหมาย นอกจากนี้ยังสรุปมติดังกล่าวเพื่อเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายในวันที่ 22 ตุลาคมนี้ด้วย