รมว. เกษตรฯ สั่งแก้โรคระบาดใบร่วงในยางพารา พบการเกิดโรคแล้ว 3 จังหวัดชายแดนใต้
กยท. ระบุ เป็นโรครุนแรงที่ส่งผลกระทบให้น้ำยางลด คาดมีพื้นที่เสียหายแล้วไม่ต่ำกว่า 100,000 ไร่
เร่งควบคุมให้อยู่วงจำกัดเพื่อไม่ให้กระทบต่อผลผลิตยางทั้งประเทศ
เมื่อวันที่ 18 ต.ค.62 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้เกิดการระบาดของโรคใบร่วงในยางพาราบริเวณ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส ยะลา และปัตตานี ซึ่งการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) รายงานว่า เป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นในไทย โดยก่อนหน้านี้ระบาดเป็นวงกว้างในอินโดนีเซียและมาเลเซีย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญสถาบันวิจัยยางของกยท. ตรวจสอบพบว่า เกิดจากเชื้อรา Pestalotiopsis sp. คาดว่า เมื่อเกิดไฟป่าในอินโดนีเซีย กระแสลมได้พัดพาสปอร์ของเชื้อรา มาถึงไทยและเมื่อฝนตกจึงชะลงสู่สวนยาง นอกจากนี้ยังแพร่กระจายเข้ามาตามชายแดนไทย-มาเลเซีย เมื่อต้นยางติดโรคจะทำให้ใบร่วงถึงร้อยละ 90 น้ำยางลดลงร้อยละ 30-50 จึงสั่งการให้กยท. และกรมวิชาการเกษตรร่วมกันหามาตรการแก้ไขและควบคุมโรคให้อยู่ในวงจำกัด นอกจากนี้ได้ประสานกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (Gisda) ถ่ายภาพจากดาวเทียมเพื่อจะได้ทราบพื้นที่การระบาดที่แน่ชัดว่า อยู่ในอำเภอใดและรวมพื้นที่ระบาดทั้งสิ้นเท่าไรใช้ประกอบการเฝ้าระวังและควบคุมโรค
นายกฤษดา สังข์สิงห์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กยท. เปิดเผยว่า ได้ส่งเจ้าหน้าที่ด้านโรคพืชเข้าไปให้คำแนะนำแก่เกษตรกรถึงสารที่ทดสอบแล้วว่า มีประสิทธิภาพในการกำจัดเชื้อราได้แก่ Hexaconazole Benomyl และ Thiophanate Methyl รวมทั้งแปลงที่อยู่ใกล้เคียงกับแปลงที่เกิดโรคสามารถฉีดพ่นป้องกันได้ โดยเชื้อราชนิดนี้ทำลายต้นยางพันธุ์ที่ปลูกในพื้นที่นั้น ได้แก่ พันธุ์ RRIM 600 พันธุ์ RRIT 251 และ พันธุ์ PB 311 ลักษณะอาการที่ปรากฏบนใบยางแก่ เมื่อเริ่มแสดงอาการจะมีรอยช้ำเป็นกลุ่มเห็นชัดเจนด้านหลังใบ หลังจากนั้นจะกลายเป็นวงค่อนข้างกลมสีเหลือง (Chlorosis) ต่อมาเนื้อเยื่อรอยสีเหลืองจะตายแห้ง (Necrosis) เป็นแผลกลมสีสนิมซีด โดยพบอาการจุดแผลต่อใบยางมากกว่า 1 แผล ต่อมาใบจะเหลืองและร่วงในที่สุด อาการโรครุนแรงและใบร่วงมากหลังมีฝนตกหนักติดต่อกันอย่างน้อย 2 วัน
ต้นยางอายุมากขนาดใหญ่ได้รับผลกระทบที่รุนแรงกว่าต้นยางอายุน้อยขนาดเล็ก
นายกฤษดา กล่าวต่อว่า ขณะนี้ประเทศที่พบโรคใบร่วงชนิดนี้มี 5 ประเทศได้แก่ อินโดนีเซียซึ่งระบาดประมาณ 2 ล้านไร่ มาเลเซียหลายแสนไร่ ส่วนอินเดียและศรีลังการะบาดเป็นวงกว้าง สำหรับประเทศไทยเบื้องต้นคาดว่า ระบาดแล้ว 100,000 ไร่ โดยกำลังรอผลจากภาพถ่ายดาวเทียมมาประเมินความแม่นยำอีกครั้ง สำหรับการควบคุมโรคให้อยู่ในวงจำกัดนั้น ได้ขอความร่วมมือเกษตรกรงดเคลื่อนย้ายทั้งยางชำถุง กิ่งตา และใบออกนอกพื้นที่ระบาด โดยกำลังเร่งประสานความร่วมมือทางวิชาการกับประเทศสมาชิกสภาวิจัยและพัฒนายางระหว่างประเทศ (IRRDB) ที่เคยมีการระบาดของโรคนี้ซึ่งจะมีการประชุมที่มาเลเซียในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้เพื่อนำวิธีการป้องกันกำจัดที่ได้ผลแล้วมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทย ทั้งนี้กยท. ย้ำว่า ให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้อย่างมากและจะดำเนินการอย่างเต็มที่ในการป้องกัน กำจัด รวมถึงควบคุมไม่ให้โรคแพร่กระจายมากขึ้น