“เฉลิมชัย ยกทัพรับมือร่องฝนลงภาคใต้ ป้องน้ำท่วม16จว. เฝ้าระวัง89จุดพื้นที่เสี่ยงท่วม วางแผนขุดถนน ทางรถไฟ แก้อุปสรรคกีดขวางทางน้ำ เปิดช่องทางดึงน้ำออกทะเลได้เร็วที่สุดลดความสูญเสียทั้งพื้นที่เขตเศรษฐกิจ ชุมชน เกษตร”

“เฉลิมชัย ยกทัพรับมือร่องฝนลงภาคใต้ ป้องน้ำท่วม16จว. เฝ้าระวัง89จุดพื้นที่เสี่ยงท่วม วางแผนขุดถนน ทางรถไฟ แก้อุปสรรคกีดขวางทางน้ำ เปิดช่องทางดึงน้ำออกทะเลได้เร็วที่สุด ลดความสูญเสียทั้งพื้นที่เขตเศรษฐกิจ ชุมชน เกษตร”

 

เมื่อวันที่11ต.ค.นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานประชุมเตรียมรับสถานการณ์อุทกภัยภาคใต้ที่สำนักงานชลประทานที่ 14 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยเชิญผู้แทนกระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 16 จังหวัดมารับทราบสถานการณ์และแนวทางบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน ทั้งนี้จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ร่องมรสุมจะพาดผ่านภาคกลางตอนล่างได้แก่ จังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ ต่อเนื่องถึง 14 จังหวัดภาคใต้ตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมเป็นต้นไปและจากสถิติอุทกภัยจะเกิดระหว่างปลายเดือนตุลาคมถึงธันวาคม

นายเฉลิมชัยกล่าวว่า กำชับทุกหน่วยงานให้เฝ้าระวังและป้องกันการเกิดภัยเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ซึ่งจะทำให้ประชาชนไม่เดือดร้อน กรณีที่มีภัยธรรมชาติก็จะทำให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด อีกทั้งหากลดความรุนแรงของภัยพิบัติได้ รัฐบาลจะไม่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟูด้าน ทั้งนี้อุทกภัยรุนแรงที่เกิดขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นประสบการณ์ที่ทุกหน่วยงานต้องนำมาปรับใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาโดยให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ภูมิประเทศของภาคใต้มีลักษณะเป็นสันเขาพาดยาวลงไปขนานกับแนวชายฝั่งทะเล พื้นที่แคบ เมื่อฝนตกหนักจะเกิดน้ำหลากอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ดังนั้นมาตรการที่ต้องเตรียมคือ การเร่งระบายน้ำออกทะเลให้เร็วที่สุด

ทั้งนี้ขอความร่วมมือหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงคมนาคม บูรณาการกับกระทรวงเกษตรฯ ในการเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาหากเกิดอุทกภัย อาจจำเป็นต้องขุดถนนเพื่อเปิดช่องทางให้น้ำไหลออกทะเลได้เร็วเนื่องจากสภาพพื้นที่ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก มีทั้งถนน และทางรถไฟกีดขวางทางน้ำจำนวนมาก โดยนายกรัฐมนตรีมีบัญชาให้ทุกกระทรวงทำงานร่วมกันและบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรให้เร็วที่สุด

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่าทุกโครงการชลประทานใน 16 จังหวัดตั้งแต่เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พังงา กระบี่ ภูเก็ต สงขลา ตรัง พัทลุง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาสติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างใกล้ชิด สถานการณ์น้ำภาคใต้ปัจจุบัน อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่งได้แก่ เขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนปราณบุรี เขื่อนรัชประภา และเขื่อนบางลางมีน้ำรวม 5,513 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 46 แห่ง มีน้ำรวมกัน 351 ล้าน ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 106 แห่งมีน้ำรวมกัน 31 ล้าน ลบ.ม. จากการคาดการณ์ปริมาณฝนเฉลี่ยในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จะมีปริมาณน้ำรวมกัน5,705 ล้าน ลบ.ม. และจากการคาดการณ์ปริมาณฝนเฉลี่ยในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จะมีปริมาณน้ำรวมกัน 5,930 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเน้นย้ำให้บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมอย่างเคร่งครัด ปรับการระบายน้ำให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละช่วงเวลา โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 ของความจุอ่างฯ เพื่อไม่ให้กระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายอ่าง รวมถึงการตรวจสอบอาคารและระบบชลประทานในพื้นที่ ให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ

 

นอกจากนี้กรมชลประทานยังได้กำหนดพื้นที่เฝ้าระวังอุทกภัยใน 16 จังหวัดซึ่งมี 89 จุด โดยประเมินคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม-น้ำล้นตลิ่งเป็นรายเดือนว่า แต่ละเดือนมีอำเภอและจังหวัดใดมีความเสี่ยงบ้าง ใน 16 จังหวัด และเตรียมความพร้อมด้านเครื่องมือเครื่องจักรได้แก่ เครื่องสูบน้ำจำนวน 464 เครื่อง โดยดำเนินการติดตั้งแล้ว 49 เครื่อง และสำรองอีก 415 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำจำนวน 300 เครื่อง ดำเนินการติดตั้งแล้ว 28 เครื่อง และสำรองอีก 272 เครื่อง รถแทรกเตอร์และรถขุดจำนวน 308 คัน เครื่องจักรกลสนับสนุนอื่นๆอีกจำนวน 170 หน่วย รวมเครื่องจักรเครื่องมือทั้งหมด 1,242 หน่วย ซึ่งในวันนี้ (11 ต.ค. 62) รมว. เกษตรฯ เป็นประธานเปิดกิจกรรมปล่อยขบวนคาราวานเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ เข้าประจำจุดเสี่ยง โดยกำหนดจุดหลักไว้ใน 4 จังหวัดได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช สงขลา และนราธิวาส อีกทั้งมีจุดพักรองในจังหวัดต่างๆ อีก 13 แห่งเพื่อให้สามารถเข้าช่วยเหลือพื้นที่หากเกิดอุทกภัยได้ทันที

นายทองเปลว กล่าวต่อว่า กรมชลประทานจะทำงานประสานกับหน่วยงานต่างๆ โดยประชุมหารือกันทุกสัปดาห์และตามสถานการณ์ โดยเฉพาะกับผู้ว่าราชการจังหวัด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ฝ่ายความมั่นคง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการติดตามสถานการณ์น้ำ วิเคราะห์และเตรียมรองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นเพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาทำได้อย่างรวดเร็ว

“ลักษณะเฉพาะของภาคใต้ที่ต้องนำมาวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างรอบคอบคือ อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่มีน้อย มีอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กซึ่งความสามารถในการเก็บกักอาจไม่เพียงพอ หากมีฝนตกลงมามาก รวมถึงการระบายน้ำขึ้นกับอิทธิพลของน้ำทะเลหนุน หากช่วงน้ำทะเลขึ้นสูงจะทำให้น้ำจากพื้นที่ตอนบนออกสู่ทะเลได้ช้า ดังนั้นการพร่องน้ำทั้งในอ่างเก็บน้ำและลำน้ำธรรมชาติจึงต้องทำให้เหมาะสมกับสถานการณ์ รวมทั้งการเตรียมพร้อมเครื่องจักร-เครื่องมือในการเร่งระบายน้ำลดผลกระทบโดยเร็ว” นายทองเปลว กล่าว

 

 

You May Have Missed!

1 Minute
ข่าวประชาสัมพันธ์
สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย (สภท.) จับมือกูรูด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม จัดสัมมนาสื่อมวลชน ชู “ไฟฟ้า” คู่ “การลดคาร์บอน” หัวใจสำคัญของการพัฒนาในพื้นที่ EEC
0 Minutes
กีฬา
มิเกล โรดริโก้ หั่นเองกับมือ 14 แข้งสุดท้าย “เทอดศักดิ์-ณรงค์ศักดิ์-กฤษณ์” นำทัพป้องกันแชมป์ฟุตซอลอาเซียน2024 ที่ เทอร์มินอล 21 จ.นครราชสีมา 2-10 พ.ย.นี้ เข้าชมฟรี
1 Minute
ข่าวประชาสัมพันธ์
Mr.หลิน​ จิ้น เจี๋ย รอง​ ปธ.บจก.หัวเซ​ิ้น เทรดดิ้ง เป็นประธานมอบรางวัลให้กับนักกีฬากอล์ฟ ในรายการ “กุ้ยโจว เหมาไถ มินิ กอล์ฟ ทัวร์นาเมนต์ ครั้งที่​ 5”
0 Minutes
โรงพยาบาล
ผู้บริหารของโรงแรม โฟร์ซีซั่น กรุงเทพฯ รุดมอบ เต้านมเทียม 150 ชิ้น มอบให้ผู้ป่วยที่ต้องการใช้งานเต้านมเทียม