“อลงกรณ์” ยัน “เฉลิมชัย” อยากพบม็อบหนุน-ต้านแบนสารพิษ แต่วูบกะทันหัน ลั่นสั่งแบนทันที พร้อมพลิกแผ่นดินสู่ออแกนิคไทยแลนด์ เป็นครัวของโลก
ขณะที่ เครือข่ายต้านสารเคมีฯ ยังไม่วางใจคกก.วัตถุอันตราย กลัวผิดหวังครั้งที่ 3 เรียกร้องนายกฯ แบน 3 สารพิษภายในปีนี้
หากยื้อเวลาม็อบผู้บริโภคลุกฮือทั่วประเทศแน่ เผยอดีตขรก.เกษตร วิ่งเต้นรัฐบาล ยืดเวลาแบนสารไปต้นปีหน้า ลดขาดทุนขอเคลียร์ของส่งออกไปประเทศที่3
เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 62 นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังร่วมประชุมกับเครือข่ายต้านสารเคมีวัตถุอันตรายทางการเกษตร 686 องค์กรว่า พรรคประชาธิปัตย์ และกระทรวงเกษตรฯ ยืนยันมีนโยบายแบน 3 สารเคมี ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ทันที และไม่ต้องผิดหวังที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ มาร่วมประชุมไม่ได้ เพราะก่อนหน้านี้มีอาการชาที่มือ และแขน ทั้ง 2 ข้าง และก่อนการประชุมมีอาการวูบ หน้ามืด จึงมอบให้ตนมารับหนังสือแทน ทั้งนี้ ขอให้มั่นใจว่า กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายขับเคลื่อนไปสู่เกษตรยั่งยืนทำให้ประเทศไทยเป็น “Organic Thailand” และยินดีร่วมกับทุกกลุ่ม เพื่อแก้ปัญหาที่หมักหมมในด้านเกษตรมานานครึ่งศตวรรษ ที่จะต้องไร้ทุจริต และไร้ผลประโยชน์แอบแฝง
นายอลงการณ์ กล่าวว่า โดยเฉพาะ 3 สารเคมี มีการนำเข้า 200-300 ล้านกิโลกรัมต่อปี มีมูลค่าปีละหลายหมื่นล้านบาท โดยรมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารเกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งมีรมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน จะเร่งเสนอร่างกฎหมายพัฒนาการทำเกษตรกรรมยั่งยืน เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรโดยเร็ว เพื่อจะเดินหน้าทำเกษตรอินทรีย์เต็มรูปแบบในพื้นที่เกษตรทั่วประเทศ 145 ล้านไร่ พร้อมกับตราพระราชบัญญัติตั้งองค์กรเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปสู่เกษตรตามศาสตร์พระราชา เช่น เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน เกษตรตามธรรมชาติ และนำมาอยู่ใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่อสืบสานต่อยอดศาสตร์พระราชาของในหลวงรัชกาลที่ 9 และตามกระแสพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 10 โดยดำเนินการผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) 882 แห่งทั้วประเทศ และศูนย์ถ่ายทอดความรู้ที่มีอยู่ 10,000 กว่าแห่ง รวมทั้งร่วมกับยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ เกษตรแปลงใหญ่ ตั้งเป้าผลักดันไปสู่เกษตรอินทรีย์ 1 ล้านไร่ ภายในปีนี้ ปี 63 จำนวน 5 ล้านไร่ และในปีต่อๆ ไป จะขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ปีละ 25 % พร้อมกับปรับปรุงโครงสร้างภาษีตามกฎหมายสิทธิความปลอดภัยของผู้บริโภค เพื่อดำเนินการเก็บภาษีการนำเข้าสารเคมีทุกชนิดมาเข้ากองทุนเกษตรอินทรีย์แห่งประเทศไทย เหมือนเช่นการเก็บภาษีบุหรี่ เหล้า หรือที่เรียกว่า ภาษีบาป
“เราจะไม่ยอมให้คนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง หรือต้องอยู่กับโรคต่างๆ อย่างทุพพลภาพ เหมือนพืชผักที่ตายทั้งเป็น ดังนั้นการแบน 3 สารพิษ จะต้องเกิดขึ้น 1 ธ.ค.นี้ โดยรัฐบาลมอบให้รัฐมนตรีที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องทุกคน ให้เดินหน้าเรื่องนี้ทันที นอกจากนี้ นายเฉลิมชัย ได้เรียกบัญชีสารชีวภาพจากกรมวิชาการเกษตรมาดูทั้งหมดอย่างเร่งด่วน เพื่อปรับเปลี่ยนการทำเกษตรของประเทศนี้ ไปสู่เกษตรยั่งยืนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด แม้จะเป็นเรื่องยาก เพราะเกษตรกรเคยชินกับการใช้สารเคมี แต่เป็นเป้าหมายแรกที่จะให้เป็นสัญลักษณ์ว่าประเทศไทย พร้อมจะเป็นครัวโลก และก้าวไปสู่เกษตรอินทรีย์ หรือ Grow Organic Thailand” นายอลงกรณ์ กล่าว
ด้าน นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) กล่าวว่า ไม่ผิดหวังที่ไม่ได้พบรมว. เกษตรและสหกรณ์ เพราะท่านไม่สบายจริงๆ เช่นเดียวกับน.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องพักฟื้นที่รพ.สมิติเวช หลังการประชุมแบน 3 สาร เพราะคงโดนกดดันมาตลอด ซึ่งอยากขอให้ข้อเสนอการแบน 3 สาร ของกระทรวงเกษตรฯ ที่จะนำเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตราย ให้มีความหนักแน่นและสมบูรณ์ เพื่อจะได้ไม่ผิดหวังเหมือน 2 ครั้งที่ผ่านมา ที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย ยืดระยะเวลาการแบนสารพิษออกไป และขอเรียกร้องให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เสนอให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย มีการลงมติแบบเปิดเผย ไม่ใช่ลงมติลับเหมือนที่ผ่านมา เพราะตัวแทนหน่วยงานมีถึง 19 คน และมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 10 คน ซึ่งผู้ทรงคุณวุฒิ 3 คน มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทค้าสารเคมีข้ามชาติ และบริษัทนำเข้าสารเคมี อย่าให้เกิดเหมือนครั้งที่ผ่านมา ที่ลงมติให้ใช้ต่อ โดยอ้างว่ายังไม่มีสารทางเลือก
“พวกเรากังวลอย่างเดียว รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องจะแบน 3 สาร แต่ในท้ายที่สุดจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ จะต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด หากดูกรอบเวลาจะต้องมีการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายภายใน 2 สัปดาห์นี้ เพื่อให้การแบน 3 สาร มีผลบังคับใช้ทันวันที่ 1 ธ.ค.นี้ ตามที่ รมช.มนัญญา เสนอ และเรียกร้องนายกฯ จะต้องเห็นผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ และต้องมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ลงทะเบียนจะใช้สารเคมีจำนวน 4 แสนราย ให้มีปรับเปลี่ยนจากการใช้สารเคมีไปสู่เกษตรปลอดสาร ซึ่งรัฐต้องสนับสนุนเกษตรกรเหล่านี้ เพราะที่ผ่านมารัฐอำนวยความสะดวกให้เอกชน โดยไม่เก็บภาษีนำเข้าสารต่างๆ มากว่า 30 ปี อ้างว่าเกษตรกรจะได้มีต้นทุนราคาถูก และเชื่อว่าเมื่อเกษตรกรรู้พิษภัยของสารเคมี เกษตรกรจะไม่ยินยอมให้ผู้อื่นเอาสารพิษมาให้ใช้อีก อย่างไรก็ตาม จะติดตามท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ต่อไป”นายวิฑูรย์ กล่าว
นายวิฑูรย์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ภาคเอกชนยินดีที่จะมีการขับเคลื่อนร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ ในการเสนอร่าง พรบ.เกษตรกรรมยั่งยืน เนื่องจากมีการเรียกร้องจัดทำมายาวนาน เพราะเป็นเรื่องสำคัญมาก ในการรับประกันความปลอดภัยของผู้บริโภค และการจัดตั้งสถาบันเกษตรอินทรีย์ การขับเคลื่อนนี้มีความยากลำบาก จะต้องมีภาคประชาชนร่วมด้วยจึงจะสำเร็จ โดยเฉพาะกฎหมายรับประกันสิทธิผู้บริโภค ได้รับอาหารปลอดภัย และพรบ.ควบคุมความปลอดภัยของอาหารอันเนื่องมาจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ที่จะต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะไม่ต้องการสารเคมีราคาถูกที่นำเข้ามาไม่เสียภาษี แต่ทำให้คนกินตาย และในสัปดาห์หน้าจะไปพบกับนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เพื่อประสานคณะกรรมการวัตถุอันตราย สั่งแบน 3 สารภายในปีนี้ อย่ายืดเวลาไปถึงวันที่ 1 ม.ค.63 ตามที่มีกระแสข่าว ไม่อย่างนั้นประชาชนจะลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิทั่วประเทศ เพราะไม่ต้องการอาหารราคาถูก แต่ฆ่าผู้บริโภค
รายงานข่าวกระทรวงเกษตรฯ เปิดเผยว่าอดีตข้าราชการระดับสูงเกษตร ที่ผันตัวเองเป็นผู้นำเข้าสารเคมี3ชนิด ยังวิ่งเต้นเข้าหาผู้ใหญ่ในรัฐบาล เพื่อให้ยืดเวลาแบน3สาร ไปถึงเดือนม.ค.63 เพราะจะเคลียร์สต๊อกมีมูลค่าเป็นพันๆล้านบาท เร่งส่งออกไปประเทศที่สามให้หมดโดยจะทำให้ขาดทุนน้อยลง หากประเทศไทยแบน3สาร จะทำให้ถูกกดราคาอย่างมากจากประเทศปลายทาง
อย่างไรก็ตาม สารเคมีเหล่านี้นำเข้ามามีต้นทุนเพียงตันละ7-800 บาท ที่ผ่านมาไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า ส่งออกแต่อย่างใด โดยสร้างกำไรให้กับบริษัทค้าสาร ได้ปีเป็นหมื่นๆล้านบาท
นอกจากนี้อดีตราชการ รายนี้ และหุ้นส่วน ยังถือครองที่ส.ป.ก.ไว้จำนวนมากหลายร้อยไร่ ที่ วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา แต่กำลังจะถูกสำนักงานส.ป.ก.ฟ้องร้องขับไล่ ยึดพื้นที่คืน โดยระหว่างนี้ยังเจรจาต่อรองขอถือครอง 50ไร่ และวิ่งหานักการเมืองช่วยเคลียร์เรื่องที่ส.ป.ก.ให้ด้วย