“รมว. เฉลิมชัย” เตรียมเสนอ ครม. ช่วยเกษตรกรหลังน้ำลด อัดงบ 5.4พันล้านบาท วันนี้ไฟเขียวแผนฟื้นฟู เยียวยา เกษตรกร เจอทั้งแล้ง-ท่วมซ้ำ 49จว.
แจกเมล็ดพันธุ์ข้าว ถั่วเขียว ข้าวโพด ปลานิล พันธุ์ไก่ไข่ ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำลงแหล่งน้ำให้เกษตรกร จับเพิ่มรายได้
ปล่อยกู้ดอกต่ำร้อยละ1 จัดโคเนื้อสร้างอาชีพ เฟสแรก5แสนตัว ให้เกษตรกรฟื้นตัวกลับมามีรายได้เร็วที่สุด
เมื่อวันที่ 7 ต.ค.62 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า วันนี้จะเสนอให้ครม. พิจารณาอนุมัติแผนปฏิบัติการฟื้นฟู เยียวยา เกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วงและอุทกภัยปี 2562 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบทั้งภาวะฝนทิ้งช่วง เมื่อช่วงเดือนมิถุนายน ถึงปลายเดือนสิงหาคมและอุทกภัยเนื่องจากอิทธิพลพายุโพดุลและคาจิกิ ตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคมเป็นต้นมา
ทั้งนี้พื้นที่ ที่ประสบภาวะฝนทิ้งช่วงจนส่งผลให้พื้นที่การเกษตรเสียหายสิ้นเชิงมี 19 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี กำแพงเพชร เชียงราย น่าน นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ อุทัยธานี ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สระแก้ว ลพบุรี สระบุรี และพัทลุง เกษตรกร 398,428 ราย พื้นที่ 4.64 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าว 3.83 ล้านไร่ ,พืชไร่-พืชสวนและอื่นๆ 810,000 ไร่ สำหรับพื้นที่ประสบอุทกภัยมี 30 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ แพร่ น่าน พิจิตร พิษณุโลก แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง สุโขทัย อุตรดิตถ์ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น นครพนม บุรีรัมย์ มหาสารคาม ยโสธร มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สกลนคร หนองคาย อำนาจเจริญ อุดรธานี อุบลราชธานี ตราด นครนายก กระบี่ สุรินทร์ และสระแก้ว พื้นที่เกษตรที่เสียหายสิ้นเชิง 1.20 ล้านไร่ เกษตรกร 139,888 ราย แบ่งเป็น ข้าว 1.14 ล้านไร่ พืชไร่-พืชสวนและอื่นๆ 60,000 ไร่ และพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเสียหาย 3,686 ไร่ กระชัง 1,628 ตารางเมตร สัตว์ตายหรือสูญหาย 44,798 ตัว
นายเฉลิมชัยกล่าวว่า ผลจากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นซ้ำซ้อนในปีนี้ ทำให้รอบระยะเวลาการเพาะปลูกทางการเกษตรไม่เป็นไปตามฤดูกาล กระทบต่อปริมาณผลผลิต รายได้ลดลงจนอาจไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพและนำไปสู่การก่อหนี้สินเพิ่มขึ้น จึงต้องช่วยเหลือเยียวยาเพื่อให้สามารถประกอบอาชีพการเกษตรได้ทันทีหลังน้ำลด กระทรวงเกษตรฯ จึงจัดทำแผนช่วยเหลือขึ้น 5 โครงการ กรอบวงเงิน 3,766.753 ล้านบาท ประกอบด้วย
1. โครงการส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และถั่วเขียว เกษตรกรเป้าหมาย 150,000 ครัวเรือน พื้นที่ 1.4 ล้านไร่ โดยสนับสนุนเป็นเงิน โอนเข้าบัญชีเกษตรกรเพื่อซื้อเมล็ดพันธุ์ ให้ความช่วยเหลือตามพื้นที่ปลูกจริง รายละไม่เกิน 20 ไร่ วงเงิน844.074 ล้านบาท
2. โครงการรักษาระดับปริมาณและคุณภาพข้าวปี 2563/64 เกษตรกรเป้าหมาย 827,000 ครัวเรือน เมล็ดพันธุ์ข้าว 63,200 ตัน พื้นที่ 6.32 ล้านไร่ โดยแจกเมล็ดพันธุ์ข้าวแก่เกษตรกรไร่ละ 10 กิโลกรัม ไม่เกินครัวเรือนละ 10 ไร่ วงเงิน 1,739.429 ล้านบาท ทั้งนี้จะจัดส่งเมล็ดพันธุ์ข้าวกลุ่มไม่ไวแสงให้ช่วงเดือนกลางเดือนพฤศจิกายน – กลางเดือนธันวาคม 2562 ส่วนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวกลุ่มข้าวไวแสงจะจัดส่งในฤดูกาลเพาะปลูกหน้า ช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน 2563
3. โครงการพัฒนาเสริมทางเลือกอาชีพด้านประมง เป็นการเลี้ยงปลานิลในบ่อดิน เกษตรกรเป้าหมาย 50,000 ราย พื้นที่ 50,000 ไร่ โดยสนับสนุนพันธุ์ปลารายละ 800 ตัวและอาหารสัตว์น้ำ 120 กิโลกรัม วงเงิน 260 ล้านบาท
4. โครงการสร้างรายได้จากอาชีพประมงในแหล่งน้ำชุมชน ซึ่งกรมประมงจะปล่อยพันธุ์กุ้งก้ามกรามในแหล่งน้ำชุมชนขนาดกลางหรือขนาดเล็ก 1,935 แห่ง ในพื้นที่ 129 อำเภอ จำนวน 200,000 ตัวต่อแห่ง วงเงิน 683.250 ล้านบาท
5. โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ปีก โดยมีเกษตรกรเป้าหมาย 48,000 ครัวเรือนซึ่งจะสนับสนุนเป็นเงินโอนเข้าบัญชีเกษตรกรเพื่อซื้อพันธุ์ไก่ไข่และเป็ดไข่ ครัวเรือนละ 10 ตัว ไก่พื้นเมืองคละเพศครัวเรือนละ 30 ตัว พร้อมค่าอาหารและค่าวัสดุในการเลี้ยง วงเงิน 240.000 ล้านบาท
นอกจากนี้กระทรวงเกษตรฯ จะเสนอแผนปฏิบัติการส่งเสริมอาชีพเพื่อสร้างรายได้ต่อเนื่องแก่เกษตรกรที่เดือดร้อนจากภัยธรรมชาติซ้ำซากและและความผันผวนทางเศรษฐกิจให้รายได้ไม่เพียงพอเลี้ยงชีพ โดยเกษตรกรรายย่อยขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อใช้ฟื้นฟูหรือปรับเปลี่ยนอาชีพตามที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอ 2 โครงการ กรอบวงเงิน 1,634.14 ล้านบาท ได้แก่
1.โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตและการกระจายเมล็ดพันธุ์ โดยส่งเสริมให้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว เกษตรกรมีเป้าหมาย 200,000 ครัวเรือน พื้นที่ 50,000 ไร่ เมล็ดพันธุ์ 45,000 ตัน วงเงิน 562.19 ล้านบาทและผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว เกษตรกรมีเป้าหมาย 10,500 ครัวเรือน พื้นที่ 5,000 ไร่ เมล็ดพันธุ์ 500 ตัน วงเงิน 23.50 ล้านบาท
2.มาตรการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ได้แก่ โครงการเลี้ยงโคขุน เกษตรกรมีเป้าหมาย 100,000 ราย พันธุ์โคเนื้อ 500,000 ตัว โดยเกษตรกรกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาซื้อโคขุนรายละไม่เกิน 5 ตัวและสนับสนุนการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ซึ่งเกษตรกรจ่ายร้อยละ 30 รัฐสมทบร้อยละ 70 รวมทั้งค่าเบี้ยประกันภัย วงเงิน 706.750 ล้านบาท
โครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อสร้างอาชีพ ระยะที่ 3 มีเป้าหมาย เกษตรกรเป้าหมาย 10,000 ราย พันธุ์โคเนื้อ 50,000 ตัว โดยให้องค์กรเกษตรกรกู้ยืม เพื่อจัดหาปัจจัยให้แก่เกษตรกร รายละไม่เกิน 250,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 รัฐบาลสนับสนุนร้อยละ 3 และเกษตรกรสบทบร้อยละ 1 วงเงิน 110.500 ล้านบาท
โครงการพัฒนาศักยภาพตลาดนัดโค-กระบือ เกษตรกรเป้าหมาย 2,430 ราย โดยสนับสนุนเงินกู้สำหรับพัฒนาตลาดเข้าสู่มาตรฐาน 30 แห่ง จากทั้งหมด 118 แห่ง แห่งละไม่เกิน 3 ล้านบาท และสนับสนุนเงินกู้ให้แก่ผู้ค้าโค-กระบือ รายละไม่เกิน 200,000 บาท วงเงิน 17.100 ล้านบาท
โครงการเพิ่มปริมาณการผลิตโคเนื้อพันธุ์ดี เกษตรกรเป้าหมาย 10,000 ราย พันธุ์โค 1,008 ตัว โดยซื้อโคเนื้อพันธุ์ชาร์เบรย์ซึ่งเป็นลูกผสมพันธุ์ชาโรเล่ส์กับบราห์มัน โดยนำเข้าจากต่างประเทศ เป็นเพศเมีย 1,000 ตัว เพศผู้ 8 ตัว พร้อม ทั้งสนับสนุนค่าเครื่องจักรกลการเกษตร โรงเรือน วัสดุอุปกรณ์ วงเงิน 196.10 ล้านบาท
โครงการก่อสร้างศูนย์นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์โดยกรมปศุสัตว์จะขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
โครงการส่งเสริมการเลี้ยงแพะเนื้อสร้างอาชีพ เกษตรกรเป้าหมาย 5,000 ราย โดยเกษตรกรกู้เงินจาก ธ.ก.ส. ซื้อแพะพ่อแม่พันธุ์รายละไม่เกิน 21 ตัวและแพะขุนรายละ 55 ตัว อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 รัฐบาลสนับสนุนร้อยละ 3 เกษตรกรสบทบร้อยละ 1 วงเงิน 18 ล้านบาท
นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ระยะเวลาดำเนินการคือ ตั้งแต่ตุลาคม 2562 – 30 กันยายน 2563 โดยขอให้ครม. อนุมัติหลักการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการดังกล่าว ซึ่งใช้งบประมาณจากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็นตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 รวมทั้งสิ้น 5,400.893 ล้านบาท
“แผนปฏิบัติการฟื้นฟู เยียวยาฯ และแผนส่งเสริมอาชีพนี้จะช่วยให้เกษตรกรประกอบอาชีพได้ทันทีหลังน้ำลด ส่วนจะส่งเสริมให้ทำการเกษตรฯ ใดนั้น พิจารณาความเหมาะสมของพื้นที่และปริมาณน้ำต้นทุนให้เหมาะสม โดยในฤดูแล้ง 62/63 บางพื้นที่มีน้ำจำกัดจึงให้ปลูกข้าวโพดและถั่ว รวมถึงเลี้ยงสัตว์ซึ่งใช้น้ำน้อย เชื่อมโยงแหล่งผลิตกับแหล่งรับซื้อเพื่อจะได้ขายผลผลิตได้แน่นอน ที่สำคัญคือ พันธุ์สัตว์และสัตว์น้ำที่แจกจ่ายกำหนดอายุให้สามารถจำหน่ายได้ภายใน 2 – 4 เดือนเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เร็วที่สุดและมีรายได้ต่อเนื่องจนกว่าจะถึงฤดูกาลเพาะปลูกหน้าในเดือนพฤษภาคม 63” นายเฉลิมชัย กล่าว