กรมชลประทานเดินหน้าสร้างความมั่นคงด้านน้ำ
ศึกษาความเหมาะสมโครงการบริหารจัดการน้ำ โขง–เลย–ชี–มูล ระยะที่ 1 (ระบบส่งน้ำ)
- กรมชลประทานเดินหน้าศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการบริหารจัดการน้ำ โขง–เลย–ชี–มูล โดยใช้แรงโน้มถ่วง ระยะที่ 1 (ระบบส่งน้ำ) มุ่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภค ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่
เมื่อวันที่ 26–27 มีนาคม 2568 นางดรรชณี เฉยเพ็ชร ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม กรมชลประทาน เป็นประธานในกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจร โครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการบริหารจัดการน้ำ โขง–เลย–ชี–มูล โดยใช้แรงโน้มถ่วง ระยะที่ 1 (ระบบส่งน้ำ)เพื่อสรุปรายละเอียดและความคืบหน้าของโครงการ พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากสื่อมวลชน ณ ห้องประชุมลำน้ำชี สำนักงานชลประทานที่ 6 นอกจากนี้ ยังมีการให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาโครงการและผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการพัฒนาโครงการดังกล่าว
นางดรรชณี เปิดเผยว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีพื้นที่รวมกว่า 103.5 ล้านไร่ หรือประมาณ 1 ใน 3 ของประเทศ ครอบคลุม 20 จังหวัด มีพื้นที่เกษตรกรรมกว่า 63.85 ล้านไร่ มี3ลุ่มน้ำหลักสำคัญ คือ ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูล ซึ่งพื้นที่การเกษตรส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาน้ำฝนเป็นหลัก ขณะที่แหล่งกักเก็บน้ำต้นทุนมีอยู่อย่างจำกัด เนื่องจากภูมิประเทศเป็นที่ราบสูงและแบนราบ การนำน้ำมาใช้จึงต้องอาศัยการสูบน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ
สำหรับพื้นที่ศึกษาโครงการครอบคลุม 6 จังหวัด ได้แก่ หนองบัวลำภู ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ชัยภูมิ และนครราชสีมา รวม 30 อำเภอ 179 ตำบล โดยมีการศึกษารูปแบบคลองส่งน้ำที่เหมาะสมเพื่อให้สามารถกระจายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยพิจารณาแยกประเภทคลองส่งน้ำออกเป็น คลองส่งน้ำสายหลัก คลองส่งน้ำสายซอย และคลองส่งน้ำแยกซอย
นางดรรชณี กล่าวเพิ่มเติมว่า ระบบส่งน้ำของโครงการ โขง–เลย–ชี–มูล ระยะที่ 1 ออกแบบให้เป็นคลองเปิดลำเลียงน้ำผ่านอำเภอสุวรรณคูหา อำเภอเมืองหนองบัวลำภู และอำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู โดยสามารถสูบน้ำส่งไปยังพื้นที่สูงและพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก ครอบคลุมพื้นที่ชลประทานประมาณ 1.73 ล้านไร่
ด้าน นายจิรศักดิ์ มงคลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย สำนักชลประทานที่ 6 กล่าวว่า โครงการดังกล่าวสามารถกระจายน้ำให้พื้นที่เกษตรกรรมได้อย่างทั่วถึง โดยน้ำจากแม่น้ำโขงจะถูกผันผ่านอุโมงค์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 เมตร ด้วยอัตราสูงสุด 160 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หรือประมาณ 1,900 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ส่งผลให้พื้นที่ชลประทานในฤดูฝนครอบคลุม 1.73 ล้านไร่ และในฤดูแล้ง 0.864 ล้านไร่ นอกจากนี้ ยังสามารถเติมน้ำให้กับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ 388 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนลำปาว 101 ล้านลูกบาศก์เมตร
นายสวน พันเดช หัวหน้ากลุ่มผู้ใช้น้ำโซน 5 สำนักงานชลประทานที่ 6 จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ที่ผ่านมาเกษตรกรในพื้นที่ต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมเป็นประจำ ทำให้ผลผลิตเสียหาย โครงการอุโมงค์ผันน้ำจะช่วยเพิ่มความมั่นคงด้านน้ำและทำให้ชาวบ้านสามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แม้ว่าโครงการจะใช้เวลาพัฒนาอีกหลายปี แต่ในอนาคต ลูกหลานของเกษตรกรจะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่
นายทองลี แซงภูเขียว อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 ตำบลโนนท่อน อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ชาวบ้านที่อยู่อาศัยในพื้นที่รับประโยชน์ กล่าวว่า เกษตรกรในพื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา และปลูกพืชผักสวนครัว โดยต้องอาศัยน้ำจากคลองชลประทานเป็นหลัก ซึ่งมักประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง หากโครงการนี้เกิดขึ้น จะช่วยให้เกษตรกรสามารถทำการเกษตรได้อย่างต่อเนื่อง และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้ กรมชลประทานยังคงเดินหน้าศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คาดว่าเมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้แก่พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างเป็นรูปธรรม