กรมชลประทาน ลงพื้นที่ฟังความเห็นต่อแผนงานปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครหลวง ป่าสักใต้ และคลองเพรียว-เสาไห้

กรมชลประทาน ลงพื้นที่ฟังความเห็นต่อแผนงานปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครหลวง ป่าสักใต้ และคลองเพรียว-เสาไห้


กรมชลประทานลงพื้นที่จัดจัดการประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 2 โครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุง โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักใต้ เพื่อนำเสนอ ร่าง-แผนงานปรับปรุงโครงการที่เหมาะสม รับฟังสภาพปัญหาข้อเสนอแนะจากกลุ่มองค์กรผู้ใช้น้ำชลประทาน กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและส่วนราชการในพื้นที่เพื่อนำไปประกอบการกำหนดแผนงานปรับปรุงโครงการให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน

โดยเวทีที่ 1 กลุ่มพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาคลองเพรียว-เสาไห้ ณ หอประชุมที่ว่าการ อ.หนองแค จ.สระบุรี มีนางวิรงรอง สุริยะธำรงกุล นายอำเภอหนองแซงเป็นประธานการประชุม , เวทีที่ 2 กลุ่มพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักใต้ ณ หอประชุมที่ว่าการ อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา มีนายเสนีย์ กลั่นกล้า ปลัดอาวุโสอำเภอภาชี เป็นประธานการประชุม และเวทีที่ 3 ณ หอประชุมที่ว่าการ อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา มีนายจีระวัฒน์ สวนะปรีดี ปลัดอาวุโสอำเภออุทัยเป็นประธานการประชุม

นายขจร ใบพลูทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมสำรวจ (ด้านสำรวจ) กรมชลประทาน เปิดเผยว่า โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครหลวง ป่าสักใต้ และคลองเพรียว-เสาไห้ มีอายุการใช้งานมาอย่างยาวนาน บางส่วนชำรุดเสียหาย ประสิทธิภาพการใช้งานลดลง แม้ว่าจะมีการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารชลประทานให้อยู่ในสภาพที่ใช้การได้บางส่วน แต่ยังไม่สามารถปรับปรุงให้ได้ประสิทธิภาพดังเดิมทั้งโครงการ ในปี พ.ศ.2560 กรมชลประทาน ได้ทำการศึกษาทบทวนความเหมาะสมการปรับปรุงระบบชลประทานพื้นที่เจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง พบว่า การปรับปรุงโครงการฯ นครหลวง ป่าสักใต้ และคลองเพรียว-เสาไห้ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพระบบชลประทานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ต่อมาในปี พ.ศ.2567 กรมชลประทานจึงได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครหลวง ป่าสักใต้และคลองเพรียว-เสาไห้ ครอบคลุมพื้นที่ 104 ตำบล 12 อำเภอของจังหวัดสระบุรีและพระนครศรีอยุธยา รวมพื้นที่โครงการ ประมาณ 731,700 ไร่ และพื้นที่ชลประทาน ประมาณ 525,900 ไร่ ซึ่งตามแผนงานคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมกราคม 2569

ทั้งนี้ เมื่อวางแผนปรับปรุงโครงการให้มีความเหมาะสมจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำและการระบายน้ำ บรรเทาปัญหาขาดการเเคลนน้ำ การนำน้ำจากแผนงานปรับปรุงในภาพรวมกลับมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่โครงการอย่างเหมาะสม เพื่อใช้ในการเกษตร การอุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศในลำน้ำ รวมไปถึงการบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่เจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่างได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต