กรมชลประทาน ลุยเมืองปากน้ำโพ เตรียมดัน 4 โครงการประตูระบายน้ำเร่งด่วน วางเป้าแก้ภัยแล้ง-น้ำท่วมสองฝั่งลำน้ำน่าน เพิ่มคุณภาพชีวิตประชาชน มีน้ำกินน้ำใช้ตลอดปี

กรมชลประทาน ลุยเมืองปากน้ำโพ เตรียมดัน 4 โครงการประตูระบายน้ำเร่งด่วน

วางเป้าแก้ภัยแล้ง-น้ำท่วมสองฝั่งลำน้ำน่าน เพิ่มคุณภาพชีวิตประชาชน มีน้ำกินน้ำใช้ตลอดปี

 


นายพนมศักดิ์ ใช้สมบุญ ผู้อำนวยการส่วนวางโครงการที่ 1 สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน พร้อมด้วยนายพรชัย ไวสุ ปลัดอำเภอชุมแสง และนายเอกฉัตร เอี่ยมตาล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครสวรรค์ นำสื่อมวลชนลงพื้นที่อำเภอชุมแสง จ.นครสวรรค์ เพื่อติดตามการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่นครสวรรค์ พร้อมเสนอ 4 แผนงานโครงการอาคารบังคับน้ำเร่งด่วน เพื่อเป็นเครื่องมือแก้ภัยแล้ง-น้ำท่วม ลำน้ำน่าน ใน วันที่ 5-6 ก.พ.68 ภายใต้โครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม อาคารบังคับน้ำในแม่น้ำน่าน จังหวัดน่าน พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ ในกิจกรรมสื่อสัญจรครั้งที่ 1

นายพรชัย ไวสุ ปลัดอำเภอชุมแสง กล่าวว่า อำเภอชุมแสง เป็นที่ลุ่มรับน้ำ จากแม่น้ำน่าน และแม่น้ำยม ที่มาบรรจบกันที่ตำบลเกยไชย ในช่วงน้ำหลากก็จะมีน้ำล้น พอเข้าสู่ช่วงฤดูแล้งก็จะขาดแคลนน้ำ ปัญหาในพื้นที่คือการบริหารจัดการน้ำ แหล่งกักเก็บน้ำทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลางที่ยังไม่ครอบคลุม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง น้ำไว้สำหรับทำการเกษตร 80% ของเกษตรกรในอำเภอชุมแสงคือ การทำนา ที่มีความจำเป็นต้องใช้น้ำ เมื่อมีโครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม อาคารบังคับน้ำในแม่น้ำน่าน จะมีประโยชน์ต่อเกษตรกรในหลายพื้นที่ที่มีน้ำน่านไหลผ่าน จะช่วยยกระดับการจัดการน้ำเข้าพื้นที่ที่ต้องการใช้น้ำได้เป็นอย่างดี ทั้งในฤดูน้ำหลาก-น้ำแล้ง และตอนนี้ทางอำเภอชุมแสงพยายามเสนอโครงการเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ จึงได้จัดทำโครงการสำรวจห้วย หนอง คลอง บึง ที่เป็นแหล่งน้ำขนาดเล็ก ที่จะสามารถทำเป็นแก้มลิงสอดรับกับโครงการขนาดกลาง ขนาดใหญ่ ซึ่งจะช่วยเก็บกักน้ำให้เพียงพอและใช้ประโยชน์ได้ทุกช่วงฤดูกาลในแต่ละปี และจากการประชุมกลุ่มย่อยที่ผ่านมา กลุ่มผู้ใช้น้ำและประชาชน เกษตรกรได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยส่วนใหญ่จะเห็นด้วยและมีความต้องการที่อยากให้เกิดโครงการนี้ขึ้นมา ซึ่งทราบว่ามีการเสนอหรือมีความต้องการมาร่วม 50 กว่าปี ที่พยายามผลักดัน พยายามอยากให้เกิดขึ้น ในส่วนของอาคารบังคับจุดวังหมาเน่า ที่นับเป็นความต้องการ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่จริงๆ

นายพนมศักดิ์ ใช้สมบุญ ผู้อำนวยการส่วนวางโครงการที่ 1 สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน กล่าวว่า ปัจจุบันลำน้ำน่าน ในเขตจังหวัดน่าน พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเนื่องจากไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่ ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำและปัญหาอุทกภัยเป็นประจำทุกปี กรมชลประทาน ได้มีนโยบายที่จัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม โดยการใช้ลำน้ำน่านเป็นแหล่งเก็บกักน้ำ โดยเมื่อ ปี 2566-2567 กรมชลประทาน ได้ดำเนินการศึกษาแผนหลักการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของอาคารบังคับน้ำในแม่น้ำน่านและได้ทำการคัดเลือกโครงการเพื่อศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้วเสร็จ จำนวน 2 โครงการ คือ โครงการประตูระบายน้ำน้ำปั้ว-ไหล่น่าน จังหวัดน่าน และ โครงการประตูระบายน้ำฆะมัง จังหวัดพิจิตร

ปี 2567-2568 ได้ดำเนินการศึกษาทบทวนแผนหลักอาคารบังคับน้ำในแม่น้ำน่าน พบว่า มีโครงการที่มีศักยภาพเป็นอาคารบังคับน้ำในแม่น้ำน่าน จำนวน 5 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการอาคารบังคับน้ำผาจา ที่ตั้งอยู่ในเขต บ.หัวเมือง ต.แงง อ.ปัว จ.น่าน มีความจุเก็บกัก 1.64 ล้าน ลบ.ม.และ พื้นที่ชลประทาน 7,129 ไร่ 2.โครงการอาคารบังคับน้ำท้ายเมืองพิษณุโลก ที่ตั้งอยู่ในเขตของศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 6 จังหวัดพิษณุโลก ต.งิ้วงาม อ.เมือง จ.พิษณุโลก มีความจุเก็บกัก 44.33 ล้าน ลบ.ม. และพื้นที่ชลประทาน 18,267 ไร่ 3. โครงการอาคารบังคับน้ำโคกสลุด ที่ตั้งอยู่ในเขต ต.โคกสลุด อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก ความจุเก็บกัก 30.79 ล้าน ลบ.ม. และพื้นที่ชลประทาน 9,200 ไร่ 4. โครงการอาคารบังคับน้ำบางไผ่ (อาคารบังคับน้ำบ้านห้วยคตเดิม) ที่ตั้งอยู่ในเขต บ.โพธิ์แดน ต.บางไผ่ อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร มีความจุเก็บกัก 31.58 ล้าน ลบ.ม. และพื้นที่ชลประทาน 59,557 ไร่ 5. โครงการอาคารบังคับน้ำวังหมาเน่า ที่ตั้งอยู่ในเขต บ.ย่านสวย ต.ทับกฤช อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ มีความจุเก็บกัก 33.02 ล้าน ลบ.ม. และ พื้นที่ชลประทาน 38,454 ไร่  โดยแผนงานต่อไปจะทำการจัดลำดับความสำคัญและความจำเป็นเร่งด่วนมาศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม จำนวน 4 โครงการ คาดว่าจะแล้วเสร็จตามแผนงานในเดือนธันวาคม 2568 นี้

ขณะที่ นายเอกฉัตร เอี่ยมตาล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครสวรรค์ กล่าวว่า จ.นครสวรรค์ มี 15 อำเภอ มีพื้นที่ชลประทานกว่า 150,000 ไร่ มีแม่น้ำหลายสายไหลมารวมกัน รวมถึงแม่น้ำน่านที่ไหลมาบรรจบในเขตอำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ มีการทำช่องลัดของแม่น้ำน่านที่อยู่ในโครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม อาคารบังคับน้ำในแม่น้ำน่าน ทางกรมชลประทานจะมีการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม ที่จะนำน้ำในแม่น้ำน่านผ่านอาคารบังคับน้ำจำนวน 7 ตัว ทางกรมชลประทานได้ศึกษาผลกระทบที่มีต่อเกษตรกรในพื้นที่ ทำความเข้าใจ ถึงประโยชน์ในการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำ สำหรับการบริหารจัดการน้ำโดยใช้อาคารชลประทานจะมีการจัดจราจร หรือหน่วงน้ำ ในการจัดการน้ำในฤดูแล้ง ฤดูฝน จะมีคลองซอยเพื่อควบคุมน้ำไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนที่จะนำไปอุปโภค บริโภค อีกทั้งกรมชลประทานยังได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการน้ำตลอดการดำเนินโครงการ อีกทั้งมีความห่วงใยเกษตรกรเป็นหลัก ซึ่งน้ำถือเป็นหัวใจของทุกคน ที่ปรับเปลี่ยนชีวิตของคนได้

ด้านนายสมชาย ปลั่งสุวรรณ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทับกฤช อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ เปิดเผยว่า ในส่วนขององค์กรท้องถิ่นที่ประชาชนในเขตบึงบอระเพ็ดอยากให้มีการทำอาคารบังคับน้ำที่วังหมาเน่า ซึ่งจากเดิมชาวบ้านขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภค บริโภค รวมถึงการเกษตร พอมีเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าเข้ามา ทำให้เกษตรกรมีน้ำใช้ที่ดีขึ้น ทาง อบต.ได้มีการรวมกลุ่มชาวบ้านตั้งเป็นกลุ่มผู้ใช้น้ำ มีการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อการใช้ในชีวิตประจำวัน รวมถึงการเกษตร โดยเฉพาะการทำนาที่มีทั้งนาปี นาปรังที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น และต้องขอบคุณหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำ ที่มาแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำให้มีความยั่งยืนต่อไป

นายประเสริฐ ศรีปัญญา ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าลุ่มน้ำน่านจังหวัดพิจิตร อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร และอนุกรรมการน้ำน่าน กล่าวว่า ทางกลุ่มได้ร่วมมือกับกลุ่มผู้ใช้น้ำในอำเภอชุมแสงที่มีการใช้น้ำน่านร่วมกัน เป็นผู้ริเริ่มที่อยากได้อาคารบังคับน้ำในลุ่มน้ำน่านให้เป็นขั้นบันไดเพื่อจะได้เก็บน้ำไว้ให้เกษตรกรในเขตน้ำน่านตั้งแต่พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ ได้มีน้ำอุปโภค บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรที่มีความจำเป็นต้องใช้น้ำ ในช่วงน้ำหลากน้ำก็มาเต็มที่ น้ำไหลลงผ่านเจ้าพระยาลงสู่ทะเล แต่พอหน้าแล้งก็ไม่มีน้ำใช้ หากมีอาคารบังคับน้ำเกิดขึ้นจะทำให้มีการเก็บกักน้ำแบบแก้มลิงก็จะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำได้ในหน้าแล้ง ช่วยบรรเทาปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำได้เป็นอย่างดี ทางกลุ่มผู้ใช้น้ำยังได้มีการปลูกต้นไม้บริเวณเหนือจุดต้นน้ำน่านเพื่อช่วยอนุรักษ์ธรรมชาติ รักษาป่าต้นน้ำให้คงอยู่ ชะลอการไหลของน้ำให้ช้าลง ลดปัญหาน้ำท่วมในช่วงหน้าน้ำอีกด้วย

นายเที่ยง ข้อยุ่น เจ้าของที่ดินบริเวณก่อสร้าง ปตร.วังหมาเน่า และเกษตรกรผู้ใช้น้ำตำบลทับกฤช อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ เผยว่า รู้สึกดีใจที่ทางกรมชลประทานเข้ามาสร้างทางลัดน้ำจากแม่น้ำน่าน แม้ว่าจะถูกเวนคืนที่ดินจำนวน4 ไร่ แต่จะเป็นผลดีกับเกษตรกร และที่บริเวณนี้ที่เป็นที่ดินแก้มลิงเจอน้ำท่วมตลอดในฤดูน้ำหลาก และไม่มีน้ำในช่วงฤดูแล้ง เกษตรกรส่วนจะใช้ประโยชน์ได้โดยการใช้น้ำบาดาลหากมีโครงการฯเข้ามาก็จะเป็นประโยชน์สามารถทำนาได้ตลอดปี และยังหวังว่าจะสามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยว ความเจริญก็จะตามมากับสายน้ำด้วย


ทั้งนี้ เมื่อกรมชลประทานดำเนินการตามแผนงาน 5 โครงการแล้วเสร็จ จะสามารถเก็บกักน้ำในลำน้ำน่านเพิ่มขึ้นอีก ประมาณ 140.30 ล้าน ลบ.ม. ส่งน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรประมาณ 132,600 ไร่ และเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำในฤดูน้ำหลาก ช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง เป็นแหล่งน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศลำน้ำน่าน สนับสนุนประเพณีท้องถิ่น ส่งเสริมการท่องเที่ยวและกิจกรรมการใช้น้ำอื่น ๆ ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

 

You May Have Missed!

0 Minutes
ข่าวประชาสัมพันธ์
“ดีโด้” ย้ำความเป็น No.1 แบรนด์น้ำผลไม้! พร้อมเสิร์ฟความเฟรช ดีโด้ อะโลฮ่า! รับซัมเมอร์ ชวนมา เฟรชสับๆ ดีโด้สับปะรด และมาฉ่ำระเบิดระเบ้อ กับดีโด้สตรอว์เบอร์รี่
1 Minute
ข่าวประชาสัมพันธ์
 อบจ.พิษณุโลก จัดพิธีรดน้ำขอพรคณะผู้บริหารเพื่อสืบสานประเพณีสงกรานต์ให้คงอยู่สืบไป
0 Minutes
ข่าวประชาสัมพันธ์
อบจ.พิษณุโลก จัดโครงการฝึกอบรมจัดการน้ำตามปรัชญาของเศรฐกิจพอเพียง (ระบบเติมน้ำใต้ดิน) เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในช่วงฤดูฝนและกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งให้โรงเรียนวังพิกุลวิทยศึกษา
0 Minutes
โรงพยาบาล
บริษัท เอสอีเอ ชิพยาร์ด จำกัด บริจาคเงินให้กับมูลนิธิโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์