มหาวิทยาลัยศิลปากร กับการใช้ความสร้างสรรค์เพื่อการขับเคลื่อนและสร้างรายได้ให้กับประเทศ
วันที่ 13 มกราคม 2568 ศ.ดร.ธนะเศรษฐ์ ง้าวหิรัญพัฒน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า “มหาวิทยาลัยศิลปากรเชื่อมโยงการใช้ความสร้างสรรค์เพื่อขับเคลื่อนและสร้างรายได้ให้กับประเทศได้ โดยทิศทางของรายได้ที่มาจากอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มีการเติบโตขึ้นเป็นแนวโน้มที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ และคาดว่าจะเติบโตมากขึ้นต่อไปในอนาคต โดยที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 63-65 มูลค่าการส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ของประเทศไทยเติบโตขึ้นต่อเนื่อง เฉลี่ยปีละกว่า 50,000 ล้านบาท หรือขยับใกล้เข้ามาช่วงปี 2566 ที่ผ่านมา องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ก็ประกาศว่าประเทศไทยของเราเป็นประเทศที่มีค่าดัชนีส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ อันดับ 1 ซึ่งเป็นอันดับที่ต่อเนื่อง 2 ปีซ้อน หมวดสินค้าสร้างสรรค์ที่เป็นที่นิยมจากต่างประเทศและส่งออกสูงสุดคือสินค้าหมวด ‘งานออกแบบ’ (Design) คิดเป็น 86.14% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด
นอกจากนี้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ยังพบว่าประเทศไทยมีแนวโน้มที่ดีในการเติบโตของกลุ่มธุรกิจสร้างสรรค์ เรามีธุรกิจสร้างสรรค์มากกว่า 80,000 กิจการในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากอดีต ซึ่งทำให้เกิดการจ้างงานกลุ่มแรงงานสร้างสรรค์เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งตรงนี้ก็จะเป็นเรื่องที่จะส่งผลดีต่อ GDP ของประเทศไทยเรา
ทั้งนี้ทั้งนั้นเพราะเรามีทั้งการสนับสนุนจากภาครัฐทั้งในด้านงบประมาณและโครงการ มีศูนย์ส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ที่ให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ขับเคลื่อนการสร้างมูลค่าด้วยศิลปะในประเทศให้เติบโตเดินหน้า เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ทั้ง 4 กลุ่ม หรือ 12 สาขาของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็น
1. กลุ่มรากฐานทางวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (Creative Originals)
2. กลุ่มคอนเทนต์และสื่อสร้างสรรค์ (Creative Content/ Media)
3. กลุ่มบริการสร้างสรรค์ (Creative Services)
4. กลุ่มสินค้าสร้างสรรค์ (Creative Goods/ Products)
ซึ่งทั้ง 4 กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั้งหมดนี้เป็นส่วนประกอบสำคัญของมหาวิทยาลัยศิลปากร เรามีสาขาวิชาที่ผลิตคนในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และมีจุดมุ่งหมายในการขับเคลื่อนและสร้างรายได้ให้กับประเทศผ่านผลงานสร้างสรรค์และองค์ความรู้แห่งความสร้างสรรค์หลากหลายแขนงและประเภท ซึ่งเป็นอีก 1 ฟันเฟืองสำคัญที่ผลิตคนคุณภาพเข้าสู่ตลาดอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ด้วยการสร้าง mindset ที่ดีและความสามารถในการครีเอทผลงานที่จะช่วยขับเคลื่อนรายได้ของประเทศจากความสร้างสรรค์เหล่านี้
รวมถึงเทรนด์ความสนใจปัจจุบันที่เปลี่ยนไป เด็กรุ่นใหม่อย่าง Millenials หรือ Gen Z มีความสนใจในเรื่องศิลปะที่กว้างมากขึ้น เป็นทั้งผู้ผลิตผลงานและเป็นนักสะสม ทำให้ตลาดศิลปะเติบโตมากขึ้น และจะไม่หยุดเติบโตในอนาคตอันใกล้นี้อย่างแน่นอน
และยังกล่าวต่อว่า มหาวิทยาลัยมีผลงานศิลปะและงานสร้างสรรค์ที่ขับเคลื่อนประเทศได้ เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยศิลปากรมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศผ่านงานศิลปะและนวัตกรรมหลากหลายแขนง เราเป็นเหมือนแหล่งบ่มเพาะศิลปินและนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ ๆ อยู่เสมอ รวมถึงมีการผลิตงานวิจัยและนวัตกรรมใหม่ๆ และให้ความสำคัญกับการส่งเสริมวัฒนธรรมและสังคม
ศิลปากรใช้ศิลปะในการมีส่วนร่วมกับสังคมและชุมชนโดยรอบมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นการปรับทัศนียภาพด้วยศิลปะบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์และที่อื่น ๆ การเปลี่ยนพื้นที่รกร้างด้วยศิลปะ หรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในการนำศิลปะเข้าไปช่วยยกระดับจิตใจผู้คนให้มีทัศนคติและจิตใจที่เปิดกว้าง เพราะเมื่อนึกถึงศิลปะแล้วเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่นึกถึงศิลปากร ในด้านการขับเคลื่อนสังคม เรามีทั้งศิษย์เก่าที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติส่งต่อจิตวิญญาณทางศิลปะให้กับชนรุ่นหลัง มีผลงานรางวัลศิลปกรรมแห่งชาติ และรางวัลนวัตกรรมต่าง ๆ ที่มีรากฐานมาจากศิลปะและความสร้างสรรค์ที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ มีการผลิตบัณฑิตคุณภาพให้กับผู้ใช้งานบัณฑิต ทำให้เกิดการขับเคลื่อนขนาดใหญ่ในกลุ่มธุรกิจสร้างสรรค์ของประเทศ ดึงดูดสายตานักลงทุนให้เข้ามาที่ศิลปินชาวไทยและสามารถพาผลงานศิลปินไทยไปสู่สายตาชาวโลกได้มากขึ้นด้วย
มหาวิทยาลัยยังมีแนวทางเพื่อต่อยอดและสร้างรายได้ให้กับประเทศ เนื่องจากมหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นมหาวิทยาลัยที่ฉายภาพลักษณ์ที่แข็งแกร่งเกี่ยวกับความสร้างสรรค์และศิลปะมายาวนานกว่า 81 ปี และเรายังให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนวิสาหกิจ ธุรกิจนวัตกรรมและงานสร้างสรรค์ ที่ไม่ใช่เป็นเพียงการตอบสนองต่อนโยบายภาครัฐ แต่เป็นการวางรากฐานมหาวิทยาลัยศิลปากรที่ตอบโจทย์ด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการสร้างแหล่งรายได้ใหม่ด้วยองค์ความรู้และศาสตร์ที่เป็นความเชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัย ทำให้ในปัจจุบันเรามีเป้าหมายสำคัญคือนอกจากเรียนรู้เรื่องศิลปะและลงมือทำได้แล้วนั้น งานทุกอย่าง องค์ความรู้ทุกประเภทจะต้องสามารถมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนประเทศได้ด้วย เพื่อให้ผลงานนั้นมีมูลค่าและมีคุณค่า ไม่เป็นการเรียนเพื่อสร้างและทิ้งอย่างเปล่าประโยชน์ เพื่อให้ตอบโจทย์กับเป้าหมายนี้ ตอนนี้มหาวิทยาลัยของเราได้มีการจัดทำโครงการ University Holding Company เป็นโครงการผสานความร่วมมือและสร้างเครือข่ายวิสาหกิจ ทำข้อตกลงร่วมกับองค์กร หน่วยงาน หรือบริษัทต่าง ๆ ที่เราเล็งเห็นว่าเป็นสิ่งที่สามารถส่งออก สร้างมูลค่าเพิ่ม และนำผลงานของนักศึกษาของเราไปต่อยอดเป็นการขับเคลื่อนประเทศด้วยการสร้างรายได้จากผลงานสร้างสรรค์ ไอเดียใหม่ ๆ ที่นำไปต่อยอดให้อิมแพคมากขึ้นได้ ซึ่งจะช่วยให้ผลงานศิลปะและไอเดียของผลผลิตของศิลปากร สามารถเข้าไปช่วยขับเคลื่อนประเทศได้อีกช่องทางหนึ่ง
และยังกล่าวถึงเรื่องอนาคตของศิลปะและความสร้างสรรค์ต่อว่า ศิลปะและความสร้างสรรค์ต่อจากนี้จะมีแต่ยิ่งเติบโตขึ้นมากกว่าเดิม เพราะมีแนวโน้มที่เราเห็นกันได้ชัดว่าคนรุ่นใหม่เห็นคุณค่าและพร้อมจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับงานศิลปะมากขึ้น ยุคนี้ศิลปะเข้าไปอยู่ในงานป๊อปมากขึ้น เช่น การดีไซน์กล่องสุ่ม การออกแบบ Art toy หรืองานคราฟท์ งานฝีมือที่มีความยูนีค ในยุคนี้จะได้รับความนิยมสูงมาก ตลาดธุรกิจสร้างสรรค์ขยายมากขึ้นกว่าเดิม ถือเป็นสัญญาณที่ดีเกี่ยวกับอนาคตของโลกศิลปะด้วย
ที่สำคัญคือ มหาวิทยาลัยศิลปากรของเรามองว่าศิลปะนั้นอยู่ในทุกสิ่ง ไม่จำเป็นจะต้องเป็นการวาดเขียนเท่านั้น ทุกสาขาวิชาเรามีรากฐานมาจากศิลปะทั้งหมด ต่อให้เป็นสายวิทยาศาสตร์ก็จะเป็นวิทยาศาสตร์ที่มีศิลปะมาเกี่ยวข้อง และที่สำคัญคือในอนาคตอันใกล้นี้มหาวิทยาลัยศิลปากรเองก็กำลังจะเป็นคณะสหเวชศาสตร์ แต่ก็จะเป็นคณะด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพที่ไม่ทิ้งความเป็นศิลปะ เป็น Art Wellness Centre ที่ใช้ศิลปะในการช่วยบำบัดรักษา เยียวยาจิตใจและร่างกายด้วยพลังแห่งความสร้างสรรค์
จึงมองว่าต่อให้ในอนาคตโลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ศิลปะก็จะยังเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีและเติบโตเฟื่องฟูขึ้นจากความร่วมมือทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงสถาบันที่มีรากฐานมาจากศิลปะอย่างมหาวิทยาลัยศิลปากรเอง เพื่อช่วยขับเคลื่อนการทำงาน ขับเคลื่อนสังคม และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าสู่เป้าหมายที่ใหญ่กว่าต่อไป
ศ.ดร.ธนะเศรษฐ์ ง้าวหิรัญพัฒน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร ยังพูดถึงคณะใหม่ที่กำลังจะเปิด เพื่อพลิกโฉมมหาวิทยาลัยศิลปากรเพชรบุรีเป็น Art and Science for Community คือ คณะสหเวชศาสตร์ คาดว่าจะเริ่มเปิดการเรียนการสอนในสาขาวิชากายภาพบำบัดเป็นสาขาวิชาแรก ซึ่งคาดว่าจะเปิดในปี 2569
สามารถติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
• FACEBOOK: SILPAKORN UNIVERSITY
• IG: @SILPAKORN_UNI
• TIKTOK: @SILPAKORN_UNI
• LINE: @SILPAKORN_UNI
• YOUTUBE: SILPAKORN CHANNEL