“การจัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละอองภาค 3 ส่วนหน้า ในพื้นที่ภาคเหนือ”

“การจัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละอองภาค 3 ส่วนหน้า ในพื้นที่ภาคเหนือ”

ในช่วงหน้าแล้งของประเทศไทย ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนเมษายนของทุกปี มักพบการเพิ่มขึ้นของฝุ่นละออง โดยเฉพาะในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ สาเหตุเนื่องจากสภาพอากาศส่วนใหญ่จะเป็นช่วงที่หนาวเย็น และแห้งแล้งต่อเนื่องกัน ประกอบกับในช่วงเวลาดังกล่าว เกษตรกรจะทำการเผาเศษวัสดุเพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับ ทำการเกษตรในช่วงฤดูฝน ส่งผลให้หลายพื้นที่เกิดภาวะไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละออง ซึ่งส่งผลกระทบความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน สุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชน ตลอดจนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศไทย

ในการนี้ กองทัพบก โดย กองทัพภาคที่ 3 ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกัน และแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาค 3 เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และสามารถควบคุมผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ทรัพยากรธรรมชาติ และประชาชนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้มอบหมายให้หน่วยทหารในพื้นที่ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
1) หน่วยทหารในพื้นที่ ทั้ง 17 จังหวัดภาคเหนือ
2) กองกำลังนเรศวร และกองกำลังผาเมือง
3) รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด (ฝ่ายทหาร)
4) จิตอาสาพระราชทานภาค 3
5) คณะกรรมการความมั่นคงชายแดนไทย – เมียนมา ได้แก่ ส่วนภูมิภาค (Regional Border Committee : RBC) และส่วนท้องถิ่น (Township Border Committee : TBC) ในพื้นที่กองทัพภาคที่ 3

ทั้งนี้ พลโท กิตติพงษ์ แจ่มสุวรรณ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 3 ได้มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ดังกล่าว จึงได้สั่งการให้ จัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาค 3 ส่วนหน้า ขึ้น ณ สโมสรยอดทัพบันเทิง กองพลทหารราบที่ 7 อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา มีหน้าที่ ในการอำนวยการและบูรณาการ การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองและดับไฟป่า รวมถึงการเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ และสนับสนุนการประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และป้องกันให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด รวมถึงวางแผนการฟื้นฟู และสร้างความยั่งยืนต่อไป

ปรีชา นุตจรัส รายงานข่าว